การคิดเชิงบวก

การคิดเชิงบวก เป็นเรื่องที่มีคนถามหากันมากในช่วงนี้ ผู้เขียนก็ไม่มั่นใจว่าเพราะเหตุใด จึงมีคนถามจากทั้งภาคธุรกิจและภาคราชการ มีทั้งติดต่อมาที่สถาบันฯ ให้ผู้เขียนไปบรรยายให้ผู้บริหารที่บริษัทฟังหน่อย มีทั้งมาปรึกษาว่าทำอย่างไรดีให้คนในองค์กรคิดเชิงบวก ผู้เขียนมักจะขอคุยด้วยหน่อยว่าทำไมจึงอยากให้จัดหัวข้อนี้ เพราะว่าบางครั้งการอยากให้พนักงานคิดบวกนั้นเป็นเพียงอาการข้างเคียงแต่สาเหตุก่อนมาถึงจุดนี้นั้นแตกต่างกัน วันนี้ เลยลองเขียนเล่าให้ฟังเพื่อเป็นไอเดียเบื้องต้นกันไปก่อนนะคะ เผื่อท่านจะนำไปใช้กันได้เลย

การที่คนเราจะคิดบวกหรือไม่ในองค์กรนั้น ปัจจัยมีหลากหลายเหลือเกิน บางองค์กรพยายามหาวิทยากรมาสอนให้คนคิดบวก แต่ถ้าองค์กรนั้นๆเอง ระบบก็มีปัญหา วัฒนธรรมองค์กรก็คอยจับผิดกัน มองกันในแง่ร้าย แบบนี้สอนกันให้เหนื่อยก็ได้แค่ระดับเดียว อาจได้ผลมากขึ้นอีกหน่อยถ้าสอนได้ทั้งองค์กร แต่ที่สำคัญผู้เขียนมักจะย้อนถามว่า แล้วผู้บริหารขององค์กรล่ะคะ ปกติแล้วคิดบวกกันหรือเปล่า ถ้าไม่ ก็คงต้องเริ่มจากตรงนั้นก่อน ต่อให้สอนกันเรียนกันจนหมดแรงหมดทรัพยากรไปมาก แต่พอพนักงานกลับเข้ามาในองค์กร พบหัวหน้าหรือผู้บริหารไม่ได้คิดบวกด้วย แค่นี้ก็จบแล้ว ดังนั้นถ้าต้องการเปลี่ยนองค์กรท่านให้คิดบวก อันนี้ต้องคุยกันยาว ต้องขอเข้าไปทำการบ้านวิเคราะห์องค์กรสักหน่อย แล้วจึงจะเล่าให้ฟังได้ว่าควรเติมเสริมอะไรบ้าง

ทีนี้ถ้าเราดูเฉพาะตัวเราเองล่ะ ไม่สนแล้วชาวบ้านจะคิดลบก็ช่าง เราขอพัฒนาตัวเราเองก่อนละนะ อย่างนี้ก็พอจะคุยกันได้เลย ผู้เขียนให้ภาพกว้างๆก่อนดังนี้คือจะคิดบวกให้สำเร็จมีองค์ประกอบ คือ ๑. ความเข้าใจว่าอะไรคือการคิดบวก ๒. ความชำนาญในการเตือนตัวเองให้คิดบวก ๓. พฤติกรรมที่น่าจะเป็นของคนคิดบวก ๔. สภาพทั่วไปที่เอื้อต่อการคิดบวก

๑. ความเข้าใจว่าอะไรคือการคิดบวก ถ้าจะบอกว่าคิดบวกก็คือ “คิดไม่ลบ” ก็ดูจะเป็นกำปั้นทุบดินเหมือนกัน แต่โดยความเห็นของผู้เขียนคิดว่าครบถ้วนกระบวนความเลยล่ะค่ะ คิดไม่ลบนี่รวมทั้งคิดเรื่องทางบวก และการคิดเรื่องกลางๆ หรือตามสภาวะความเป็นจริง จะเรียกคิดศูนย์ (ตรงกลางระหว่างบวกและลบ ตามหลักคณิตศาสตร์) คงฟังแปลกๆ ที่น่าจะรวมส่วนของความเป็นกลางนี้คือเนื่องจากเป็นเนื้อหาตามความเป็นจริง กลางๆ จึงไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ทั้งตัวเราเองและผู้อื่น เลยถือว่าน่าจะเป็นแบบที่เหมาะสมที่จะคิดด้วย

บางท่านอาจค้านว่า แล้วถ้าเรื่องจริงเป็นลบล่ะ เช่น ท่านถูกรถชน ผู้เขียนไม่ได้ขอให้คิดบวกจนกลบความเป็นจริง จะมาคิดว่า “รถชนเราก็ดีนะ เราจะได้พักงานพรุ่งนี้” ก็จะดูชอบกลอยู่ จะคิดก็ไม่ว่าอะไรนะคะ สำหรับบางท่านที่คิดได้ แต่บางท่านทำใจไม่ได้ “ก็ถูกรถชนจะมาดีใจอะไร” ก็ขอเสนอวิธีรับรู้ตามความเป็นจริง เมื่อถูกรถชนก็คือถูกรถชน จบ แต่ข้อควรระวังอยู่ที่คำสำคัญ (keyword) ข้างต้น คือ “คิดไม่ลบ” หยุดความคิดของท่านที่อาจจะไหลลงไปที่ความคิดลบทันหรือไม่ ไม่ให้คิดต่อไปเกินเลย เช่น “ทำไมชีวิตชั้นมันแย่อย่างนี้ นี่ก็มาโดนรถชนอีก วันก่อนก็…” นี่อย่างไรคะ ที่เข้าข่ายคิดลบแล้ว เริ่มเกินจริงแล้ว ข้อเท็จจริงอยู่แค่ถูกรถชน ส่วนจะเป็นชีวิตแย่หรืออะไรนี่เราคิดแถมแล้ว

ผู้ที่คิดบวกอยู่เป็นนิจสิน จะหน้าตาผิวพรรณผ่องใส สติปัญญาเฉียบคม J ผู้เขียนเขียนเลียนแบบพวกหนังสือที่บอกถึงอานิสงค์ชนิดต่างๆเมื่อทำบุญประเภทต่างๆ ดูเหมือนขำๆ แต่น่ามีเค้าจริงๆนะคะ ลองคิดดูซิคะ พอเรานึกแต่เรื่องดีดี หรือนึกแต่ข้อเท็จจริง ไม่ใช่มานั่งโกรธใคร เห็นแต่ความผิดของคนนั้นคนนี้ แล้วอดคิดเกินจริง ใส่อารมณ์ของแถมแนวลบเข้าไปเรื่อยๆ แล้วหน้าตาจะผ่องใสได้อย่างไร หน้าตาก็ขมวด คิ้วชน หนังศรีษะตึง ตัวเกร็ง แล้วแต่อาการแต่ละคน ซึ่งรวมๆก็เรียกได้ว่าเครียด นั่นเอง คนคิดบวกอยู่เป็นนิจจึงน่าจะมีหน้าตาแจ่มใส น่าคบหาอยู่ไม่น้อย พวกเราคงเคยเห็นสาวสวยบางคนที่แต่งองค์เต็มยศ บำรุงความงามชัดเจน แต่หน้าตาบึ้งบอกบุญไม่รับ ก็ไม่มั่นในว่าจะน่าคบหาสมาคมด้วยหรือไม่ สงสัยอาจจะลืมบำรุงจิตใจไปด้วยอีกอย่าง…

อ่านถึงตรงนี้ ใครเผลอคิดต่อไปในทางลบบ้างหรือเปล่าคะ เป็นต้นว่านึกถึงตัวอย่างจริงของสาวสวยที่เคยพบ แล้วความรู้สึกส่วนหนึ่งของก็แอบหมั่นไส้ หรือไม่พอใจออกมานิดๆ ..ตกหลุมนะคะ ตกหลุม J แม้ว่าเราจะนึกถึงเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แต่โอกาสที่จะต่อยอดไปในเรื่องทางลบก็มีได้อยู่เสมอ คนที่หน้าตาบอกบุญไม่รับ เขาอาจมีสาเหตุอื่นของเขาก็ได้ ซึ่งเธออาจเป็นแค่วันนั้นแหล่ะ วันอื่นก็น่ารักดี ขอเพียงแค่เราไม่ “ด่วนสรุป” หรือตัดสินใครต่อใครทันที ก็เป็นอีกเทคนิคที่ช่วยให้เราคิดบวกได้ชำนาญขึ้น

สติปัญญาเฉียบแหลม นี้ก็เป็นไปได้อีก แต่ความแหลมก็ขึ้นกับของเดิมด้วยนะคะ ที่ว่าเมื่อเราคิดบวกแล้วเราอาจมีสติปัญญาเฉียบแหลมกว่าคิดไม่ ทำไมอย่างนั้นหรือคะ ลองนึกถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราดูที่เปิดไฟล์อะไรเต็มไปหมด หรือแย่กว่านั้นมีไวรัสเข้าไปอีก ทีนี้เครื่องก็ยิ่งเดินช้ากว่าปกติ หรือถึงขนาดต้องหยุดทำงาน เครื่องคอมพิวเตอร์ก็เหมือนกล่องความคิดเรา ตอนที่เห็นตามจริงนั้นสภาพกล่องความคิดก็ดำเนินการไปตามระเบียบ พอเราคิดบวกคลื่นความคิดจิตใจก็กระเพื่อมไปในแนวสบายๆ แต่พอคิดลบนี่กระแสความคิดก็เริ่มตีกันวุ่นวาย คิดซ้ายทีขวาที หรือบางทีหลายๆเรื่องพร้อมๆกัน ยิ่งคิดยิ่งโมโห ยิ่งขุดข้อมูลเก่าบ้าง เติมแต่งใหม่บ้างมากันใหญ่ แล้วจะเหลือที่ให้เครื่องกล่องความคิดทำงานได้แค่ไหนกันคะ ในเมื่อเต็มไปหมดอย่างนั้น สติปัญญาที่น่าจะเฉียบแหลมกว่านี้ก็กลายเป็นชุลมุนพันตูอยู่กับความคิดลบที่ทำร้ายตัวเองไปในตัวด้วย

๒. ความชำนาญในการเตือนตัวเองให้คิดบวก เรื่องนี้ถ้าพูดให้สั้นๆก็เรียกว่า มีสติทันหรือไม่ในการระงับตัวเองในการคิดลบ หลายคนทีเดียวเข้าใจเป็นอย่างดีถึงโทษของการคิดลบ และรู้ชัดว่าคิดบวกดีอย่างไร แต่พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงๆ ไม่ทันซะแล้ว เผลออีกแล้ว พอพูดถึงความชำนาญ นี้ก็หนีไม่พ้นการฝึก ฝึกค่ะ มากเข้าว่า ทำบ่อยๆ พลาดบ้างก็ช่างมัน (ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวมาโกรธตัวเอง คิดลบอีก) แค่ตั้งใจว่าฉันจะพยายามคิดบวกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วเริ่มเลย ไปเรื่อยๆ ใครสามารถปลีกเวลาไปนั่งสมาธิวิปัสสนาได้ยิ่งดี เพราะนั่นเป็นศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้ามาเป็นอย่างดีแล้วในเรื่องการมีสติ เลือกคอร์สที่ใช้หลักการสติปัฐฐาน ๔ ก็จะตรงยิ่งขึ้น ถ้าไม่มีโอกาสก็แค่พยายามทักตัวเองให้ทันเท่านั้นเอง เหมือนตัวอย่างการเห็นสาวสวยข้างต้น

๓. พฤติกรรมที่น่าจะเป็นของคนคิดบวก นี่ก็เกิดจากสิ่งที่ประสบตรงอีก คือบางท่านก็ว่าท่านคิดบวก แต่ไฉนพูดลบ ทำลบล่ะคะ คิดบวกแล้วจะบอกว่า “ก็ฉันคิดบวกนะ แต่เป็นคนตรง คิดอะไรก็พูดอย่างนั้น เลยอาจไม่ถูกหูหน่อย” ก็ดูยังไงยังไงอยู่ คิดบวกแล้วพูดบวกด้วยซิคะ พูดตรงกับใจนั้นดีแล้ว เพียงแต่ดูให้ชัดขึ้น ถ้าใจเราละเอียดพอที่จะระวังไม่ให้คนฟังช้ำใจแล้วล่ะก็ คำพูดก็จะนุ่มนวลไม่ทำร้ายใครเช่นกัน คนก็จะเห็นว่าเราคิดบวก มิเช่นนั้น มีแต่ความคิด คำพูดและการกระทำดูไม่บวก ก็ไม่รู้จะไปบอกเขาให้เชื่อได้อย่างไรว่าท่านคิดบวก

๔. สภาพทั่วไปที่เอื้อต่อการคิดบวก ในขณะที่เราเองก็ยังไม่แข็งแรงที่จะคิดบวกกันได้ตลอดเวลา การเลือกสภาวะที่อยู่ใกล้ตัวก็มีส่วนช่วย บางท่านจึงปลีกวิเวก หรือหลบไปอยู่กับวัดบ้าง ธรรมชาติบ้างบางครั้ง ก็เป็นการช่วยพักใจ พักกายได้ดีระดับหนึ่ง สภาพประจำวันก็สำคัญ บ้าน ที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน บางคนอยู่ในคนรอบข้างที่คิดลบ ก็พาจะให้เราเผลอคิดลบไปด้วย ถ้ารู้และระวังทันก็ดี คนเก่งๆก็จะสามารถอยู่ท่ามกลางสภาพไหนก็ได้ เธอก็สามารถคิดบวกได้อยู่ดี อย่างนี้เรียกว่าภูมิคุ้มกันดีแล้ว ถ้าเรายังไม่ได้ขนาดนั้น คงจำเป็นต้องเลือกที่อยู่พอสมควร ใครที่เราน่าจะใช้เวลาด้วยมากหน่อย ใครน้อยหน่อย เลือกไม่ได้ก็ถือเป็นแบบฝึกหัดให้เราฝึกคิดบวกให้ทันในขณะที่สิ่งแวดล้อมไม่อำนวย

การจะคิดบวกได้นั้นยังมีเทคนิคอีกมาก ที่สำคัญคือการฝึกฝนตั้งใจที่จะทำให้ได้จนชำนาญ ขอเป็นกำลังใจให้ “คนอยากคิดบวก” ทุกท่านนะคะ มีคำถามถามได้ตามที่อยู่ข้างต้นค่ะ

ที่มา: นิตยสาร Leader time คอลัมน์ การพัฒนาผู้นำ ประจำเดือน มิถุนายน 2549ฉบับที่ 67(6) หน้า 84-85

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *