กรมวิทย์รับทำวิจัยเซรุ่ม”พิษหน่อไม้ปี๊บ”

กรมวิทย์รับทำวิจัยเซรุ่ม”พิษหน่อไม้ปี๊บ”
• คุณภาพชีวิต
เผย!สกัดสารต้านพิษจากแบคทีเรีย

สถานเสาวภาดึงศักยภาพผลิตเซรุ่มต้านพิษงูและสุนัขบ้า พร้อมผลิตเซรุ่มต้านพิษหน่อไม้ปี๊บ ด้านกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับหน้าที่สกัดสารต้านพิษจากแบคทีเรีย ก่อนส่งต่อให้สถานเสาวภาแปรสภาพเป็นเซรุ่มใช้ในคน

น.พ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สถาบันร่วมกับสถานเสาวภาจะวิจัยและพัฒนาเซรุ่มต้านพิษหน่อไม้ปี๊บ โดยได้รับงบสนับสนุนจากกรมวิทย์ 5.6 ล้านบาทในเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่การนำตัวอย่างเชื้อมาเพาะแยกเชื้อในอาหารเลี้ยงเชื้อในภาวะไร้ออกซิเจน เพื่อเก็บเฉพาะโปรตีนหรือแอนติท็อกซินไปทดสอบความเป็นพิษในหนูขาว ก่อนส่งมอบให้สถานเสาวภานำไปพัฒนาเป็นเซรุ่มต่อไป

สองหน่วยงานจะใช้เวลาร่วมกัน 4 ปี ในการพัฒนาเซรุ่มที่สามารถต้านพิษจากเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินั่มชนิดเอและบี ซึ่งเป็นพิษที่มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยชีวิต และพบมากในไทย ขณะนี้ทางกรมวิทย์อยู่ระหว่างทดสอบสารแอนติท็อกซินที่เพาะเลี้ยงได้ โดยฉีดปริมาณ 0.8 มิลลิกรัมในหนูขาว 1 ตัวและติดตามเก็บข้อมูล 14 วัน เพื่อศึกษาความเป็นพิษ ก่อนส่งมอบสารให้สถานเสาวภา

ปัจจุบันเซรุ่มต้านพิษหน่อไม้ปี๊บต้องนำเข้าจากสหรัฐ ญี่ปุ่นและเยอรมนี ในราคาประมาณ 2 แสนบาท/โด๊ส ส่วนการระบาดครั้งที่ผ่านมา ผู้ป่วยไทยได้รับความช่วยเหลือเซรุ่มฟรีจากญี่ปุ่นและสหรัฐ

ด้านศาสตราจารย์พิเศษ ภญ.สุมนา ขมวิลัย รองผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า สถานเสาวภาจะดูแลส่วนของการทดลองในสัตว์ โดยจะรับแอนติท็อกซินจากกรมวิทย์ ไปทดสอบด้านพิษวิทยาในกระต่ายและม้า รวมทั้งพัฒนาให้เป็นเซรุ่มที่มีคุณสมบัติตามต้องการสำหรับใช้ในคน ส่วนการผลิตจะใช้กระบวนการเดียวกับที่ผลิตเซรุ่มแก้พิษงู และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

“หากการพัฒนาเซรุ่มต้านพิษหน่อไม้ปี๊บสำเร็จ ในระยะยาวคนไทยจะมีเซรุ่มใช้เป็นของตัวเอง ในราคาถูกกว่านำเข้ากว่า 50% รวมทั้งสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายให้ประเทศที่มีการระบาดของเชื้อดังกล่าวได้ด้วย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเซรุ่มดังกล่าวอาจจะใช้เวลามากหรือน้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่เคยมีการวิจัยเซรุ่มชนิดนี้มาก่อน” รองผู้อำนวยการสถานเสาวภากล่าว

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่กินเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินั่มชนิดเอและบีเข้าไปภายใน 24 ชั่วโมง จะเริ่มมีอาการปากแห้ง ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเหลวถี่และบ่อยกว่าอาการท้องร่วงทั่วไป หากมีเชื้อเข้าไปในร่างกายปริมาณที่มากจะส่งผลถึงเซลล์ประสาททำให้ตาพร่ามัว พูดไม่ชัด หายใจลำบากต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งหากไม่ได้รับเซรุ่มต้านพิษด้วยโบทูลินั่มแอนติท็อกซิน หรือเครื่องช่วยหายใจอย่างทันท่วงทีก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *