กรณ์ ดันภาษีที่ดินใช้ใน2ปีบ้านไม่เกินล้านรอด

กรณ์ ดันภาษีที่ดินใช้ใน2ปีบ้านไม่เกินล้านรอด

กรณ์ เดินหน้าดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บังคับใช้ใน 2 ปี ยกเว้นภาษีบ้านพร้อมที่ดินมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ชี้ครอบคลุม 90% ของเจ้าของที่ดินทั้งหมด งดเก็บภาษีที่ดินแลนด์ลอร์ดปีแรก มั่นใจเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายฟื้นตัวแน่ เตรียมทุ่มงบฯหมื่นล้านสมทบ กองทุนเพื่อชีวิต ใช้จ่ายบำนาญให้แรงงาน 20 ล้านคน การันตีผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการยกร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เดินสายสัมมนาทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึง “โครงสร้างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่” ที่จะมีผลบังคับใน 2 ปีข้างหน้า หลังจากกฎหมายผ่านการอนุมัติจากสภา ซึ่งที่ผ่านมาทาง สศค.ได้รับข้อเสนอแนะหลายประเด็น อาทิ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของผู้ที่มีรายได้น้อย รวมทั้งที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม หากให้เสียภาษีในอัตราปกติเกรงว่าจะเป็นภาระที่หนักเกินไป

สำหรับ กรอบการยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินที่ใช้ในการเกษตรที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลทำให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่ของประเทศได้รับการยกเว้นภาษีถึง 90% ของผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ส่วนที่ดินที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมต้องจัดหามาเตรียมไว้ใช้ในการดำเนินธุรกิจ (สต๊อกที่ดิน) หากผู้ประกอบการยังไม่ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปภายใน 1 ปี จะได้รับการยกเว้นภาษี จะเริ่มเสียภาษีในปีที่ 2 และจะเสียภาษีในอัตราสูงสุด (เชิงพาณิชย์) ในปีที่ 3

“จากผลการศึกษาของ สศค. พบว่าหากมีการยกเว้นภาษีให้กับผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท จะเหลือเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเข้ามาอยู่ในฐานภาษีฉบับใหม่แค่ 10% เท่านั้น ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม อาคารร้านค้าที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์เสียภาษีน้อย ลงกว่าเดิม เพราะภาษีที่ดินตัวใหม่จะเก็บในอัตราไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมินที่ดิน ขณะที่ภาษีโรงเรือนฉบับเดิมเก็บในอัตรา 12.5% ของฐานรายได้ในแต่ละปี โดยภาพรวมแล้วผู้ประกอบการจะเสียภาษีถูกลง แต่พวกที่จะรับภาระหนักคือพวกที่เก็บที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไร”

ที่มา : news.sanook.com

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *