‘อาหารทะเลปลอดภัยไร้สารพิษ’

“อาหารทะเลปลอดภัยไร้สารพิษ”
• อาหาร
• เรื่องเด่น
เพื่อการบริโภคที่ปลอดภัย สะอาด และถูกสุขลักษณะ

การบริโภคอาหารให้ได้คุณค่าอย่างแท้จริง ต้องคำนึงถึงคุณค่าทางอาหารและความสะอาดถูกสุขลักษณะเป็นหลักสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้เริ่มหันมาให้ความใส่ใจในการเลือกบริโภคอาหารแต่ละชนิดที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น

ซึ่งการที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยและคุณค่าทางอาหารอย่างแท้จริงนั้น วัตถุดิบที่จะนำไปประกอบอาหารก็ต้องมีความสะอาดปราศจากสารปนเปื้อน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดี โดยการบริโภคอาหารซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต จึงได้ร่วมกับสมัชชาอาหารปลอดภัยสมุทรสงคราม จัดทำ “โครงการอาหารทะเลปลอดภัยไร้สารพิษ” เพื่อพัฒนาระบบการผลิตอาหารทะเลให้มีความปลอดภัย ปราศจากสารปนเปื้อน และมุ่งหวังให้ประชาชนได้บริโภคอาหารทะเลที่ดีที่สุด สะอาด อร่อย และปลอดภัย

จ.สมุทรสงคราม มีพื้นที่ 417 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะอาหารทะเลสดๆ และอาหารทะเลแปรรูปที่เลื่องชื่อ ผู้ที่เดินทางผ่านไปมาต้องแวะมารับประทานและซื้อติดมือกลับบ้าน เพราะที่เมืองแม่กลองมีชื่อเสียงด้านอาหารทะเลที่เลิศรส เพราะเป็นของสดๆ จากทะเล

นายอรุณ เกิดสวัสดิ์ ผู้จัดการแผนงานอาหารปลอดภัย จ.สมุทรสงคราม เปิดเผยว่า สมัชชาอาหารปลอดภัยสมุทรสงครามก่อตั้งเมื่อปี 2547 เกิดจากความห่วงใยในตัวผู้บริโภคเป็นสำคัญ ด้วยเห็นว่าอาหารปลอดภัยที่แท้จริงจะต้องปลอดภัยตั้งแต่ต้นกำเนิดของวัตถุดิบ และกลุ่มเจ้าหน้าที่จากภาครัฐ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนโครงการอาหารทะเลปลอดภัยไร้สารพิษอย่างเต็มรูปแบบ

การดำเนินงานของสมัชชาจึงให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงกระบวนการจับสัตว์น้ำจากแหล่งธรรมชาติ ด้วยการเข้าไปสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่ชาวประมง เช่น วิธีการเฝ้าระวังธรรมชาติ สร้างเสริมและฟื้นฟูระบบนิเวศให้มีความปลอดภัยเพียงพอที่จะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงแนะนำวิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อพบกับอุปสรรคในการเพาะเลี้ยง

“ชาวประมงจะมีองค์ความรู้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่แล้ว เขาจะเรียนรู้ถึงวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสมัชชาจะช่วยวิเคราะห์ว่าวิธีใดสามารถช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเข้าไปให้ความรู้เพิ่มเติม สนับสนุนงบประมาณที่จำเป็น รวมทั้งเป็นตัวกลางในการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือในส่วนต่างๆ ด้วย อย่างเช่นวิธีการเพาะเลี้ยงหอยแครงในบ่อดินเพื่อป้องกันน้ำเสียที่จะเข้าไปทำลายหอย ซึ่งวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ชาวประมงมีผลผลิตที่มีคุณภาพป้อนตลาดอย่างสม่ำเสมอ ผู้บริโภคก็จะได้อาหารที่ปลอดภัยมีประโยชน์ไร้สารพิษ” นายอรุณกล่าว

“หอยแครง” เป็นสัตว์น้ำเค็ม อาศัยตามชายเลนฝั่งทะเลที่มีดินโคลนและแพลงก์ตอนอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันน้ำทะเลมักมีสารโลหะหนัก เช่น แคดเมียม สารตะกั่ว สารปรอทปนเปื้อนสูงมากจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมจากแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน ที่ไหลลงมาบริเวณอ่าวไทย เมื่อเกิดกระแสน้ำทะเลไหวเวียนในบางฤดูกาล จะพาสารปนเปื้อนเหล่านี้ มาตกในพื้นที่เลี้ยงหอยแครงของจังหวัด ทำให้หอยซึ่งกินอาหารด้วยการกรองแพลงก์ตอนดูดซับสารพิษเข้าไว้ในตัว ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

กลุ่มเพาะเลี้ยงหอยแครงบ้านคลองช่อง ซึ่งมีการเพาะเลี้ยงหอยแครงเพื่อจำหน่ายเป็นลูกพันธุ์สำหรับไปเลี้ยงต่อ และจำหน่ายเป็นอาหารทะเลสดให้แก่พ่อค้าเพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดแม่กลอง จึงปรับเปลี่ยนจากการเพาะเลี้ยงในทะเลอย่างเดียว มาเป็นการเพาะเลี้ยงในบ่อดินริมชายทะเล เพื่อป้องกันไม่ให้หอยแครงได้รับสารปนเปื้อนที่มากับน้ำ

นางขนิษฐา เนียมประพันธ์ ประธานกลุ่มเพาะเลี้ยงหอยแครงบ้านคลองช่อง เล่าว่า ปัญหาน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นปัญหาใหญ่ ที่ทางกลุ่มทำได้เพียงแต่เฝ้าระวังและคอยตรวจตราโรงงานที่อาจปล่อยสารพิษลงสู่ทะเล เมื่อใดที่น้ำทะเลปนเปื้อนสารพิษ น้ำจะมีสีแดงและขุ่น หอยแครงที่เลี้ยงมาจะตายหมด ทำให้ชาวประมงขาดทุนทันที กว่าจะสามารถเลี้ยงได้ใหม่ต้องรอให้น้ำทะเลฟื้นตัวนาน 4 เดือน ทางสมัชชาอาหารปลอดภัยสมุทรสงคราม จึงเข้ามาแนะนำให้เพาะเลี้ยงในบ่อดินเนื่องจากสามารถหลีกเลี่ยงน้ำเสียได้

“วิธีการเพาะเลี้ยงในบ่อดินทางสมัชชาฯ เข้ามาให้ความรู้และสนับสนุนเงินทุนในการทำบ่อและซื้อพันธุ์หอย ซึ่งทางกลุ่มได้จัดทำบ่อดินขนาด 30 ไร่ริมชายทะเล มีการกักน้ำเค็มสูง 1 เมตร และนำหอยขนาดเล็กมาเลี้ยงไว้ มีการเปลี่ยนน้ำทุก 5-7 วัน ช่วงใดที่น้ำทะเลเสียมีสารพิษชาวประมงก็จะไม่เปิดน้ำเข้า ทำให้หอยแครงในบ่อดินมีคุณภาพสูง ไม่มีอันตรายจากสารเคมี อีกทั้งยังโตเร็วกว่าหอยแครงที่เลี้ยงในทะเลธรรมชาติอีกด้วย” นางขนิษฐากล่าว

นอกจากนี้ ทางสมัชชาฯ ยังช่วยประสานเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เข้ามาเก็บหอยแครงไปตรวจหาสารพิษ รวมทั้งตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอ และช่วยเฝ้าระวังเรือที่จะลักลอบนำสารพิษมาทิ้งในทะเล ทำให้กลุ่มเพาะเลี้ยงหอยแครงมั่นใจได้ว่ามีผลผลิตป้อนสู่ตลาดสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคก็จะรับประทานหอยแครงสดที่สะอาดและปลอดภัย

“เรื่องของอาหารปลอดภัยเป็นประเด็นที่ทุกคนจะต้องมีความตระหนักและรับผิดชอบในบทบาทของตนเอง เมื่อมีการประกาศนโยบายให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เราก็ควรทำให้อาหารที่มีต้นกำเนิดจากแผ่นดินไทยมีคุณภาพและปลอดภัยอย่างแท้จริง ซึ่งจะสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้แก่ผู้บริโภคได้ ส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ดังเช่นตลาดแม่กลอง ตลาดน้ำอัมพวา และอีกหลายๆ แห่งที่ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจมาแวะชิมและเที่ยว ช่วยสร้างรายได้หมุนเวียนให้แก่ชาวสมุทรสงครามได้อย่างน่าพอใจดังเช่นในปัจจุบัน” นายอรุณกล่าวในท้ายสุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *