“ตัวแบบ” พัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรม

“ตัวแบบ” พัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรม

วันที่ : 30 สิงหาคม 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : การศึกษาวันนี้

รายงานการวิจัยเรื่อง รูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรม โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ซึ่งผมมีโอกาสเข้าไปเป็นที่ปรึกษา ได้สรุปตัวแบบที่สามารถนำไปพัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรมในสถานศึกษา โดยตัวแบบนี้มีโครงสร้างหรือองค์ประกอบ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเป้าหมายสูงสุดคือ การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคุณธรรม ส่วนที่สองเป็นแนวทางระดับสถานศึกษา ดังนี้

ส่วนแรก เป้าหมายสูงสุด
1. การพัฒนารูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม
เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคุณธรรมจริยธรรมให้ได้ผลตามเป้าหมาย สามารถตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและประเทศ รวมถึงพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมได้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก โดยจัดสรรและใช้ทรัพยากรที่มีในสถานศึกษาและท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ส่วนที่สอง แนวทางระดับสถานศึกษา (หมายเลข 2-8)

2. การปรับกระบวนทัศน์การพัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรม
เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิด ค่านิยม และกระบวนการในขั้นตอนการพัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนารูปแบบหรือวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพ โดยมีแนวทาง คือ วิเคราะห์สภาวะแวดล้อมของสังคมไทยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาคุณธรรมจริยธรรม เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการสอนได้สอดคล้องตามความต้องการของชุมชนและสังคม วิเคราะห์ผู้เรียน เกี่ยวกับอายุ ระดับสติปัญญา ระดับความสามารถในการเรียนรู้ พฤติกรรม สภาพครอบครัว ฯลฯ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการกำหนดรูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียน วิเคราะห์ทรัพยากรของสถานศึกษา วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และความเสี่ยงของทรัพยากรในสถานศึกษา เพื่อนำเอาทรัพยากรที่มีมาใช้ได้เต็มศักยภาพ วิเคราะห์รายวิชา เพื่อดูว่าสามารถสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมเรื่องใดได้บ้าง จัดทำดัชนีชี้วัด เพื่อติดตามและประเมินผลด้านประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และนำปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. การปรับกระบวนทัศน์ปฏิบัติงาน
เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการปฏิบัติงานของสถานศึกษาให้เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กับวิชาการ โดยมีแนวทางคือ ผู้บริหารกำหนดนโยบายการพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม พัฒนาระบบปฏิบัติงานที่มุ่งวัตถุประสงค์ บริหารโดยยึดเป้าหมายเป็นสำคัญแต่มีความยืดหยุ่นในวิธีการ พัฒนาระบบปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นประสิทธิภาพ พัฒนาระบบการทำงานโดยพิจารณา “ผลที่ได้” เทียบกับ “ทรัพยากรที่ใช้” ทำงานร่วมกันเป็นทีม มีการปรึกษาและกระจายความรับผิดชอบระหว่างผู้สอน เฝ้าระวังและประเมินผล ทั้งในเชิงนโยบาย การบริหารและการจัดการสอน เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ และจัดทำเป็นรายงาน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริหารและครู

4. การพัฒนาระบบสนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้
เพื่อสนับสนุนด้านข้อมูลและองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรมที่มีประสิทธิภาพ โดยมีแนวทาง คือ จัดทำฐานข้อมูลวิเคราะห์และประเมินสภาพทรัพยากรของสถานศึกษาและองค์กรในพื้นที่/ชุมชน จัดทำฐานข้อมูลวิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคลเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการสอนคุณธรรมจริยธรรม จัดทำฐานข้อมูล องค์ความรู้ งานวิจัย งานวิชาการ เกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรมในผู้เรียน จัดทำฐานข้อมูลการวิเคราะห์ประเด็นคุณธรรมจริยธรรม เช่น พนันบอล ยกพวกตีกัน ยาเสพติด การล่อลวงทางอินเทอร์เนต ฯลฯ พัฒนาเทคโนโลยีการจัดเก็บฐานข้อมูลและองค์ความรู้ และกระจายองค์ความรู้ไปยังครู และผู้เกี่ยวข้อง

5. การพัฒนาความสัมพันธ์เชิงสถาบันกับภาคีอื่น
เพื่อระดมทรัพยากรและความร่วมมือต่าง ๆ จากองค์กรต่าง ๆ ภายนอกเข้ามาจัดการสอนคุณธรรมจริยธรรมของสถานศึกษา เช่น องค์กรชุมชน องค์กรเครือข่ายผู้ปกครอง สถานศึกษาอื่น มหาวิทยาลัย เขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ฯลฯ โดยมีแนวทางคือ วิเคราะห์จุดอ่อนด้านทรัพยากรของสถานศึกษา ที่ไม่พร้อม ไม่เชี่ยวชาญ จัดผังกลุ่มเครือข่ายเก็บรวบรวมข้อมูลขององค์กรภายนอก/เครือข่ายกลุ่มต่าง ๆ เพื่อรู้ว่าสามารถระดมทรัพยากรใดได้บ้าง จัดระบบติดต่อสื่อสาร เพื่อแพร่กระจายความรู้ และสร้างความตระหนักในการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม จัดระบบการเรียนรู้และกิจกรรมร่วมกัน ในรูปแบบของการฝึกอบรม การปฏิบัติงาน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน และกำหนดโครงสร้างกิจกรรมทั้งในแง่เวลาและความถี่

6. การพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา
เพื่อพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และทัศนคติ ที่เอื้อต่อการจัดการสอนคุณธรรมจริยธรรมที่มีประสิทธิภาพ โดยมีแนวทางคือ พัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ให้มีภาวะผู้นำ มีทักษะการบริหารจัดการสมัยใหม่ การสร้างเครือข่าย การสร้างขวัญกำลังใจ พัฒนาครู ให้มีความรู้ ทักษะ ทัศนคติและการเป็นแบบอย่างที่ดี และสามารถวิจัยในชั้นเรียนเกี่ยวกับการพัฒนาการสอนคุณธรรมจริยธรรม ปรับสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการวิจัยในชั้นเรียน เช่น จัดสรรทรัพยากรสนับสนุนเพียงพอ เป็นต้น ประเมินผลผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน โดยประเมินจากหลายฝ่าย ประเมินเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และควรมีผลในการพิจารณาการเลื่อนตำแหน่งหรือการเพิ่มผลตอบแทนด้วย

7. การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลการบริหารจัดการของสถานศึกษาให้เกื้อกูลต่อเป้าหมายในการพัฒนารูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม และเพิ่มสมรรถนะในการบริหารจัดการในระดับที่สูงขึ้น โดยมีแนวทางคือ ปรับโครงสร้างการบริหาร โดยปรับโครงสร้างและกระบวนการทำงานให้มีความซับซ้อนน้อยและยืดหยุ่น กระจายอำนาจสู่ระดับปฏิบัติการให้กลุ่มครูประจำการ เพื่อเป็นผู้คิดริเริ่ม ดำเนินการ ประเมินผล มีส่วนร่วมตัดสินใจ และรับผิดชอบร่วมกัน

8. การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา
เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนาได้อย่างสอดคล้องและเท่าทันสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และตรงตามความต้องการของชุมชนและสังคมไทย โดยมีแนวทางคือ กำหนดเป้าหมายพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนตามที่ประเทศและชุมชนต้องการ สถานศึกษาควรสำรวจสถานะปัญหาคุณธรรมจริยธรรมในพื้นที่ เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนตามที่สังคมและชุมชนต้องการ การพัฒนายุทธศาสตร์ กำหนดทิศทางและการวางแนวทางที่สอดคล้องและเท่าทันการเปลี่ยนแปลง โดยออกแบบและเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง กำหนดแผนดำเนินงานโดยวางแผนการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า และกำหนดแผนควบคุมติดตามผลการปฏิบัติงาน และประเมินผลสำเร็จตามเป้าหมาย

ตัวแบบพัฒนารูปแบบการสอนคุณธรรมจริยธรรม เป็นเหมือนกรอบการดำเนินงาน เพื่อให้สถานศึกษาสามารถพัฒนารูปแบบการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาสามารถยืดหยุ่นตัวแบบได้ตามความเหมาะสม

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *