โลจิสติกส์ของเสื้อผ้าสำเร็จรูป

โลจิสติกส์ของเสื้อผ้าสำเร็จรูป
Source: iTransport

การผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปของยุโรปมีพัฒนาการระบบโลจิสติกส์ที่ก้าวไปไกลมาก มีผู้ให้บริการโลจิสติกส์เฉพาะทางครบวงจร ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าติดตามและอาจเป็นแนวโน้มในอนาคตที่ไทยจะนำมาปรับใช้
วิวัฒนาการการจัดการโลจิสติกส์ของแต่ละอุตสาหกรรมจะมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของสินค้าและการให้บริการ สินค้ามูลค่าต่ำอย่างเช่น ปูนซิเมนต์ หรือสินค้าเกษตร ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารการขนส่งและกระจายสินค้ามากกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ เนื่องจากต้นทุนการขนส่งมีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับต้นทุนสินค้าทั้งหมด สินค้ามูลค่าสูงหรือมีความบอบบางมาก เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ช่อดอกไม้ ต้องการระบบขนส่งที่หลีกเลี่ยงการสั่นสะเทือน โครงสร้างรถขนส่งต้องมีความนิ่มนวลเป็นพิเศษอาจเป็นระบบ air suspension vehicle ก็ได้ วิวัฒนาการในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ก็ย่อมต้องมีมูลค่าสูงและถูกออกแบบมาเฉพาะกับประเภทสินค้านั้นๆ

สำหรับอุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปนั้น มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เฉพาะให้เห็นอย่างชัดเจนและน่าสนใจ LSP (Logistics Service Provider) หลายรายในยุโรปมีการจัดการให้บริการโลจิสติกส์สำหรับอุตสาหกรรมนี้อย่างครบวงจร บาง LSP ระบุว่ามีบริการพิเศษเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วย เช่น DTS Logistics, Advanced Processing, Dreier, Crowley, Tibbet & Britten ที่ภายหลังถูก Exel ควบกิจการไป และ Birkart Globistics เป็นต้น

รูปแบบการขนส่งของเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบ่งออกเป็นสองลักษณะหลัก ได้แก่ การพับใส่ถุงพลาสติกบรรจุลงกล่องกับการแขวนเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นชุดๆ การขนส่งในลักษณะหลังนี้ในเมืองไทยยังไม่มี จะเห็นมากในประเทศอังกฤษเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะขนส่งมาบนไม้แขวนเสื้อกับ Trolley เข็นจากรถเข้าห้างแบบพร้อมจำหน่ายทันที ลดงานด้านการแกะกล่อง จัดเสื้อผ้า และการรีดได้อย่างชัดเจน บริเวณห้างก็ไม่ต้องจัดการกับกล่องและถุงพลาสติก ไม่ต้องมีบริเวณรีดผ้า และเสื้อผ้าก็อยู่ในลักษณะเรียบไม่มีรอยยับที่ไม่น่าดู ทำให้สินค้ามีรูปลักษณ์น่าซื้อหามากขึ้น ลักษณะการให้บริการขนส่งเสื้อผ้าบนไม้แขวนเสื้อนี้เรียกว่าบริการ GOH (Garment on Hanger)

พัฒนาการในเรื่องดังกล่าวนี้เห็นได้ทั้งในยุโรปและญี่ปุ่น การออกแบบรถจะมีลักษณะเฉพาะสำหรับเสื้อผ้าแขวน และสามารถขนถ่ายสินค้าระหว่างรถกับคลังสินค้าได้อย่างรวดเร็ว บางลักษณะเป็น Trolley ที่ต้องใช้คนรวบสินค้าทีละ 8–10 ชิ้นมาแขวนที่รถเข็น บางลักษณะเป็นสายยาวมีที่ยึดแขวนเสื้อผ้าและยืดสายเชื่อมไปมาได้ระหว่างรถและคลังสินค้าสามารถขนถ่ายเสื้อผ้าได้โดยอัตโนมัติไม่ต้องใช้แรงคนเลย

ในส่วนของคลังสินค้าก็ต้องมีการออกแบบเป็นคลังเฉพาะสำหรับจัดการและจัดเก็บเสื้อผ้าแบบแขวน บางคลังจะมี 2–3 ชั้น เสื้อผ้าแบบแขวนจะมีลักษณะขนถ่ายต่อเนื่องได้ทั้ง 3 ชั้นแล้วแต่วัตถุประสงค์การทำงานในแต่ละพื้นที่ในชั้นต่างๆ คลังสินค้าจะมีบริการที่หลากหลายเช่น การดำเนินการก่อนจำหน่ายสำหรับเสื้อผ้านำเข้าจากต่างประเทศ เช่น บริการตรวจสอบคุณภาพ รีดเสื้อผ้าทั้งโดยเตารีดมือและอุโมงค์รีดไอน้ำแบบอัตโนมัติ การทำความสะอาดเฉพาะจุดและการซักแห้ง การซ่อมแซมส่วนที่ไม่สมบูรณ์ การติดป้ายยี่ห้อและราคาสินค้า ตลอดจนการตรวจเช็คสต็อคสินค้าให้ด้วย

เทคโนโลยี RFID ได้ถูกนำมาใช้กับเสื้อผ้าสำเร็จรูปแล้วด้วยเช่นกัน ในช่วงปลายปี 2004 ศูนย์กระจายสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งดำเนินงานโดย DHL ได้มีการติดชิป RFID ไว้ที่ป้ายสินค้าที่มีทั้งแบบสติกเกอร์และแบบแขวนไว้กับตัวเสื้อผ้าทุกชิ้น ที่ศูนย์แห่งนี้มีการออกแบบและติดตั้งเครื่องอ่านข้อมูล RFID ให้สามารถอ่านและเก็บข้อมูลหรือดำเนินการเช็คสต็อคเสื้อผ้าแบบแขวนทั้งคลังในเวลาอันรวดเร็ว สามารถอ่านข้อมูลเสื้อผ้าจำนวน 20,000 ชิ้นในเวลาเพียง 30 วินาที RFID ยังช่วยลดระยะเวลาในการขนถ่ายและตรวจสอบเสื้อผ้าที่แขวนมาในรถซึ่งมีจำนวน 450 ชิ้นต่อคันรถ โดยใช้เวลาทั้งสิ้นเพียง 2 นาที จากเดิมที่ใช้เวลา 8 นาทีต่อคันรถ

นอกจากเทคโนโลยีบนตัวรถและคลังสินค้าแล้ว การขนส่งเสื้อผ้าทางเครื่องบินก็มีบริการ GOH ด้วยเช่นกัน Crowley เรียก GOH Air containers ในขณะที่ Birkart Globistics ก็มีบริการ Airtextainer ที่ออกแบบมาสำหรับแขวนเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยตู้สินค้าสามารถวางซ้อนทับได้ด้วย และยังช่วยปรับความชื้นที่มีความแตกต่างกันมากระหว่างขนส่งจากความชื้นที่ร้อยละ 90 ในโซนตะวันออกไกลกับความชื้นที่ร้อยละ 40 ในโซนยุโรป ทำให้เสื้อผ้าไม่มีรอยยับระหว่างการขนส่งอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ราคาค่าบริการที่สูงขึ้นมาก็เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเปรียบเทียบที่สำคัญ

นอกจากเทคโนโลยีในระบบขนส่งและคลังสินค้าของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่กล่าวมาแล้ว LSP ที่มีความชำนาญในอุตสาหกรรมนี้ยังมีบริการ Home Shopping Service ให้กับผู้ผลิตและจำหน่ายสิ่งทอด้วย LSP สามารถจัดสรรพื้นที่และทีมงานไว้เพื่อบริการจัดส่ง order ที่มาทาง internet หรือ โทรศัพท์/โทรสาร โดยบริหารสต็อคสินค้าสำหรับ Home Shopping Service ดำเนินการหยิบคัดแยกสินค้าตาม order บรรจุภัณฑ์ติดสลากที่อยู่และจัดส่งสินค้าให้ทางไปรษณีย์ด้วย ลูกค้าก็จะได้สินค้าตามที่ได้สั่งซื้อทางไปรษณีย์ ซึ่งในต่างประเทศนิยมสั่งซื้อสินค้าโดยวิธีนี้เป็นที่แพร่หลายอยู่แล้ว

การได้ LSP ที่มีความรู้ความสามารถและมีการลงทุนระบบต่างๆ ให้เช่นนี้ จึงทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าได้รับความสะดวก รวดเร็ว และบริการที่มีคุณภาพ ในราคาที่สมเหตุสมผลด้วย ซึ่งการจะพัฒนารูปแบบบริการแบบนี้ได้ก็ต้องมี demand ที่มากพอแก่การลงทุน จะให้แต่ละบริษัทลงทุนดำเนินการเองย่อมไม่คุ้มค่า การรวมตัวกันของสมาชิกในแต่ละอุตสาหกรรมและหาแนวร่วมในการพัฒนารูปแบบบริการเฉพาะของอุตสาหกรรมตนเองจึงเป็นเรื่องที่ควรต้องเริ่มต้นไปพร้อมๆ กันกับการหาแนวร่วมในการพัฒนาจาก LSP ที่มีความรู้ความสามารถด้วย อย่างน้อยการเริ่มต้นใช้สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นรถขนส่งหรือคลังสินค้า ก็น่าจะช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงได้แม้ว่าจะมีสถานะเป็นคู่แข่งกันก็ตาม

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *