โรคอ้วนภัยร้ายที่มากับอาหารทำลายเด็กไทย….

โรคอ้วนภัยร้ายที่มากับอาหารทำลายเด็กไทย….
• คุณภาพชีวิต
เน้นทุกคนในครอบครัวมีส่วนช่วยให้ห่างไกลโรคร้ายได้

ในปัจจุบันเด็กไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานคร เด็กจะรับประทานอาหารมากเกินไป จนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยกลายเป็น “โรคอ้วน”

ส่วนหนึ่งของปัญหานี้เกิดจากการขาดการดูแลที่ดีจากบิดามารดาหรือความเข้าใจผิดว่าเด็กอ้วนคือเด็กมีสุขภาพดี และอนาคตเด็กอ้วนเหล่านี้จะมีปัญหาสุขภาพอันได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ โรคกลุ่มอาการที่ดื้อต่อสารอินซูลิน นอนกรน หยุดหายใจขณะนอนหลับ นอกจากโรคทางกายแล้ว โรคอ้วนยังนำไปสู่โรคทางจิตใจด้วย เช่น ไม่ค่อยคบเพื่อน เกิดโรคซึมเศร้า และในรายที่รุนแรงมากอาจถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย

กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการได้รับอาหารมากเกินไป ทำให้มีน้ำหนักมากไม่เหมาะสมกับส่วนสูง ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายและสุขภาพ เป็นโรคเรื้อรังต่างๆในเด็ก และลดน้ำหนักได้ยากมากยิ่งขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ กลายเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน โรคเรื้อรังดังกล่าวจะมีความรุนแรงมากขึ้นและเสียชีวิตได้ง่าย

แนวทางแก้ไขเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกิน (เริ่มอ้วน/อ้วน) ติดตามการชั่งน้ำหนักทุกเดือนและวัดส่วนสูงทุก 6 เดือน แนะนำการให้อาหารครบทุกกลุ่มได้แก่ เนื้อสัตว์/ไข่/นม ข้าว-แป้ง ผัก ผลไม้ และน้ำมัน ในปริมาณที่เหมาะสมและควรกินให้หลากหลาย ลดอาหารที่ให้พลังงาน ได้แก่ อาหารประเภทข้าว-แป้ง ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน ขนมปัง เผือก มัน เป็นต้น และอาหารไขมัน เช่น น้ำมัน กะทิ ควรหลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยวิธีการทอด ผัด แกงกะทิหรือขนมใส่กะทิ งดกินจุกจิก เช่น ขนม น้ำหวาน น้ำอัดลม ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 20 นาที และเครื่องไหวร่างกายเป็นประจำ เช่น เล่นกีฬา วิ่งเล่น เดินขึ้น-ลงบันได

ขณะเดียวกันแพทย์ไทยศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์จุล ทิสยากร มูลนิธิเด็กโรคหัวใจได้เผยเกี่ยวกับโรคอ้วนในเด็กว่า เมื่อ 40 ปีก่อน แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยเด็กของประเทศไทยพบกับปัญหาโรคขาดอาหารในเด็กเป็นจำนวนมาก และโรคขาดอาหารในเด็กได้ค่อยๆหมดไป

แต่ที่กำลังกลายเป็นปัญหากับสังคมไทยแทนก็คือโรคอ้วนในเด็กอาจเป็นเพราะเด็กรับประทานอาหารมากเกินไปจนน้ำหนักตัวมากจนอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าเป็นโรคอ้วน ซึ่งในปัจจุบันพบได้ประมาณร้อยละ 10 ของเด็กในกรุงเทพมหานคร

การป้องกันโรคอ้วนต้องเป็นการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและเข้มงวดตั้งแต่แรกคลอด โดยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ซึ่งทำให้เด็กมีโอกาสอ้วนน้อยกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมวัว ในเด็กที่โตขึ้นครอบครัวมีหน้าที่จัดการและให้ความรู้เรื่องอาหารกับการออกกำลังกาย

หลักเกณฑ์ที่สำคัญเพื่อการควบคุมน้ำหนักอย่างได้ผล คือ ประการแรก ตั้งเป้าและจัดรายการเฉพาะสำหรับเด็กแต่ละคนโดยพิจารณาจากอายุ ความรุนแรงของน้ำหนักที่มากเกินไป และโรคที่มีร่วมด้วยแล้ว ประการที่สอง ครอบครัวต้องร่วมด้วยในภาคปฏิบัติ ประการที่สาม มีการประเมินผลบ่อยๆ ประการที่สี่ ต้องคำนึงถึงความประพฤติ สังคม และจิตใจของเด็กด้วย ประการสุดท้าย ให้คำแนะนำในการเปลี่ยนแปลงอาหารและการออกกำลังกายที่เด็กและครอบครัว
นำไปปฏิบัติได้จริงๆ

ซึ่งน้ำหนักตัวของแต่ละคนคือ Body Mass Index (BMI) ซึ่งคำนวณได้จากสูตรซึ่งใช้ได้ทั้งเพศหญิงและชาย

โดยการหาค่า BMI = น้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) / ความสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง

การแปลผล BMI ที่คำนวณได้
ค่า BMI (กก/ม2) การแปลผล
20-25 ดีที่สุด
25-30 น้ำหนักเกิน
30-34 อ้วน
35-44 อ้วนจนต้องระวังสุขภาพ
45-49 อ้วนจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
มากกว่า 50 ซุปเปอร์อ้วน (อันตรายมาก)
(ค่าปกติของ BMI ในเด็กที่อายุมากกว่า 9 ปี)
เด็กชาย = อายุ (หน่วยเป็นปี) + 13
เด็กหญิง = อายุ (หน่วยเป็นปี) + 14)

จะเห็นได้ว่า ความสำเร็จในการควบคุมน้ำหนักขึ้นกับความร่วมมือของสมาชิกทุกคนในครอบครัวที่ต้องยอมรับการจัดกิจกรรมร่วมกัน เช่น การเล่นกีฬา และการเปลี่ยนแปลงชนิดอาหารและวิธีการเตรียม เด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่ควรใช้ยาเพื่อการควบคุมน้ำหนัก ส่วนวิธีการผ่าตัดต่างๆเพื่อลดน้ำหนักจะพิจารณาใช้เฉพาะกับเด็กที่เจริญเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่มสาวแล้วเท่านั้น และจะต้องเป็นโรคอ้วนที่อ้วนจนมีปัญหาต่อสุขภาพแล้วเพราะมีโรคแทรกซ้อนหรือน้ำหนักมากถึงขั้นซุปเปอร์อ้วน

เรื่องโดย : นายพิทักษ์ ชนะวงศากุล

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *