โรคหัดโรคเบาๆ แต่กลายเป็นร้ายได้

โรคหัดโรคเบาๆ แต่กลายเป็นร้ายได้
ประสบการณ์จากหมอ ถึงประชาชน

มีข่าวจาก นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคอีกแล้วครับ
คุณหมอสมชาย ท่านกำลังประกาศเตือนประชาชนเรื่องโรคหัดซึ่งกำลังระบาดหนักที่ภาคอีสาน ก็เลยอยากจะขอถือโอกาสเขียนถึงโรคหัด เพื่อช่วยเตือนประชาชนในแถบอื่นๆ ซึ่งอาจจะยังไม่ได้ข่าวการระบาดของโรคหัดนี้
เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมได้เขียนถึงโรค SCRUB TYPHUS ซึ่งทางกรมควบคุมโรคติดต่อได้ประกาศเตือนประชาชนที่ชอบเข้าป่าและไปค้างแรมในป่าว่าให้ระวังโรค SCRUB TYPHUS ซึ่งกำลังระบาดอยู่ขณะนี้ บังเอิญผมมีประสบการณ์ด้วยตนเอง เคยป่วยด้วยโรคนี้เมื่อสมัยไปเที่ยวป่าที่เมืองกาญจนบุรี ก็เลยถือโอกาสเขียนถึงเรื่องนี้ตามแนวทางการเตือนประชาชนของกรมควบคุมโรคติดต่อของกระทรวงสาธารณสุขด้วย
ความจริงผมเขียนคอลัมน์ “ปั้นชีวิต” ในไทยรัฐของเรานี้มาร่วม 13 ปีแล้ว คอยติดตามฟังข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่เสมอ แต่จะเป็นด้วยการติดต่อกับทางกระทรวงกับสื่อมวลชนไม่ค่อยจะกว้างขวาง หรือการติดต่อของผมเองอาจจะแคบไปอย่างไรก็ไม่ทราบ ผมไม่ค่อยจะได้รับข่าวเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บจากกระทรวงเลย
ที่เริ่มเขียนกระจายข่าวจากคุณหมอ ม.ล.สมชาย จักรพันธ์ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ก็เพราะพยายามติดตาม ข่าวจากสื่อมวลชนด้วยกันด้วยตัวเองนี่แหละครับ และอาทิตย์นี้ก็มีข่าวจากกรมควบคุมโรคเรื่องโรคหัดอีก ก็เลยถือโอกาสเขียนเรื่องโรคหัดเพื่อขยายความจากประกาศของกรมควบคุมโรคติดต่ออีกครั้งหนึ่ง
แต่ความรู้เรื่องโรคหัดที่ผมเขียนนี้ อาจจะเป็น อีกแนวหนึ่งต่างจากประกาศของกรมควบคุมโรคติดต่อฯ ถ้าผิดพลาดอย่างไรขออภัยล่วงหน้าด้วย
ในประกาศนั้นระบุว่า “โรคหัด” หรือ “โรคไข้ออกผื่น” นี้คือ MEASLES จากการศึกษาเล่าเรียนของผมและจากประสบการณ์ด้วยตนเอง รู้สึกว่าน่าจะเป็นแบบภาษาชาวบ้านของฝรั่ง เรียกกันว่า RED MEASLES ซึ่งตัวเชื้อโรคของมันเป็น ไวรัส ชื่อว่า RUBEOLA
มีเรื่องน่าสนใจมากก็คือว่า โรคหัดของยุโรปซึ่งเป็นเมืองหนาวนั้น ต่างกว่าของเอเชียซึ่งเป็นเมืองร้อนมากเหมือนกัน
ในยุโรปและอเมริกากลัวโรคหัดอีกชนิดหนึ่งมากครับ โรคหัดแบบนั้นเรียกภาษาชาวบ้านว่า “หัดเยอรมัน” และเชื้อของมันก็เป็นเชื้อต่างกับโรคหัดของเอเชียคือ เชื้อ RUBELLA เชื้อตัวนี้ว่ากันที่จริงก็เชื้อพี่น้องกับหัดเอเชีย เพราะอาการที่เริ่มเป็นจะมี อาการคล้ายๆกันทั้งเอเชียและยุโรป แต่ หัดเยอรมัน ที่ฝรั่งกลัวก็คือ ผลข้างเคียงของมัน โดยเฉพาะถ้าเกิดทำให้ผู้หญิงที่มีครรภ์ติดเชื้อหัดนี้ เด็กในครรภ์จะเป็นอันตรายเกิดมาแล้วก็จะพิการได้
แต่เอาละครับ ตอนนี้ขอพูดถึง “หัดเอเชีย” ซึ่งขณะนี้กำลัง ระบาดที่ภาคอีสานกันเสียก่อน ตามข่าวที่ประกาศบอกว่า เด็กที่ อีสานป่วยกันกว่า 800 คนแล้ว
ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ หัดเอเชีย หรือ RUBEOLA นี้ครับ ข้อสังเกต นั้นมีอยู่ว่า ถ้าเกิดโรคนี้ขึ้นในท้องถิ่นใด ให้สังเกตให้ดีว่ายิ่งสภาพอากาศร้อนมากเท่าใด โรคนี้ขยายตัวไปตามที่ต่างๆเร็วมากอย่างไม่น่าเชื่อ
ข้อสังเกตของผมข้อนี้จึงขอสรุปไว้ก่อนว่า ถ้าอากาศเปลี่ยนเป็นร้อนขึ้นๆอย่างกะทันหัน ให้ระวังเรื่องการระบาดของโรคนี้ไว้ให้มากๆ
ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า โรคหัดแบบนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กๆมากกว่าผู้ใหญ่
ต่อไปให้สังเกตดูอาการต่างๆเป็นลำดับไปเลยนะครับ
– แรกทีเดียวจะมีไข้สูงมาก ตัวร้อนมาก วัดปรอทได้ขนาด 39-40 องศา
– ต่อไปจะมีอาการอ่อนเพลีย เพลียมากๆ ถึงขนาดลุกไม่ขึ้น เดินไม่ไหว
– เบื่ออาหาร
– เริ่มมีอาการไอ-จาม น้ำมูกไหล การไอจะเป็นไอเสียงแหบๆ
– ตาจะแดงและมักจะทนแสงสว่าง ไม่ค่อยได้
– จะมีเม็ดแดงๆ ตรงยอดจะมีจุดช้ำขาวหม่นขึ้นอยู่ในปากและช่องคอ เม็ดแดงๆในปากนี้ ภาษาแพทย์เรียกว่า KOPLIK SPOTS
– ให้สังเกตว่าเม็ดแดงๆเหล่านี้จะ ขึ้นในปากและคอก่อน ต่อจากนั้นอีกประมาณ 1-2 วัน เม็ดแดงๆจะขึ้นที่หน้าผากและใบหู หลังจากขึ้นที่หน้า แล้วจึงจะกระจายไปที่แขน ขา และส่วนต่างๆของลำตัว
เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว จะเป็นอย่างไรหรือลงเอยอย่างไรครับ ก็อยากจะเล่าย้อนไปถึงประสบการณ์ของตนเองและของเพื่อนๆ ญาติพี่น้องสมัยก่อนสักนิด
นั่นคือ เมื่อ 60-70 ปีมาแล้ว สมัยนั้นเรื่องโรคหัดเป็นเรื่องธรรมดา ดูจะเป็นธรรมเนียมที่เชื่อกันมาก่อนว่า เมื่ออายุ-โตมาระยะหนึ่งก็ต้องเป็นหัดกันทุกคน เมื่อออกหัดก็ให้ยาเย็น เช่น ยาเขียว ยาแก้ไข้ลดไข้
เมื่อเป็นหัดถึงขั้นสุดท้ายที่กล่าวมาแล้วคือ เม็ดแดงขึ้นทั่วตัวได้สัก 4-5 วัน ไข้ก็จะลด เม็ดแดงๆจะเริ่มแห้ง และเริ่มกินอาหารได้ มีเรี่ยวมีแรงขึ้น พอเดินได้วิ่งได้ก็ถือว่าโรคหัดนั้นหายแล้ว จะเหลือไว้ก็แต่ริ้วรอยจุดๆน้ำตาลแห้ง เนื่องมาจากตุ่มแดงก็เหลือเป็นอนุสรณ์สักอาทิตย์ก็หายขาด ผิวเป็นตุ่มแต่ก่อนก็จะลื่นและเรียบเป็นปกติ
และที่ดีใจมากก็คือ คล้ายกับได้ผ่านการทดสอบครั้งสำคัญในชีวิตมาแล้ว เชื่อกันว่าเมื่อเป็นหัดครั้งหนึ่งแล้ว ก็จะไม่เป็นหัดอีกเลยตลอดชีวิต
ความเชื่อเช่นนี้กลายเป็นความจริงตามหลักการแพทย์ปัจจุบันด้วย เมื่อเป็นหัดครั้งหนึ่ง ผู้ป่วยก็จะเกิดภูมิคุ้มกัน (ANTIBODY) ในตัวเรา เมื่อมีเชื้อหัดเกิดขึ้นอีก ภูมิคุ้มกันตัวนี้จะฆ่าเชื้อหัดที่เกิดใหม่ ให้วอดวายไป เราก็จะไม่มีวันป่วยเป็นโรคหัดอีก
แต่สมัยนี้เล่าเป็นอย่างไร มีบางอย่างที่น่ากลัวเกิดขึ้นคือ ความแข็งแรงของผู้ป่วยสมัยนี้น้อยกว่าสมัยก่อน ถ้าจะพูดตามแนวชีวจิตก็คือว่า ภูมิชีวิตของคนสมัยนี้ต่ำกว่าคนสมัยก่อน ฉะนั้นเชื้อหัดจะสามารถ กระจายทำให้เกิดอาการต่างๆที่ทำให้ป่วยร้ายแรงถึงชีวิตได้
ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งระดับความยากจนของประชาชนบางกลุ่มสูงกว่าปกติ มีชีวิตอยู่ในชุมชน แออัดมากขึ้น สกปรกมากขึ้น
เมื่อเป็นเช่นโรคหัด ก็จะกลายเป็นโรคร้ายแรงถึงขนาดเป็นนิวมอเนีย หรือทำให้สมองอักเสบและสมองบวมจนอาการหนักเสียชีวิตได้
การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การฉีดวัคซีนป้องกัน โรคหัดตั้งแต่เด็กมีอายุครบ 1 ขวบ วัคซีนจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคหัดได้ศักดิ์สิทธิ์นัก
แต่บางคนและหลายคนไม่มีโอกาสได้ฉีดวัคซีนจะทำอย่างไร เมื่อโตแล้วก็อาจจะฉีดยาที่เรียกกันว่า GAMMA GLOBULIN ช่วยป้องกันได้ แต่ยาตัวนี้จะมีผลป้องกันได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น
แต่คนที่ป่วยแล้วเกิดมีอาการลุกลามจนกระทั่งติดเชื้อนิวมอเนีย แพทย์ก็คงต้องรักษาตามอาการ คงต้องถึงการใช้ยาประเภทปฏิชีวนะหรือแอนตี้ไบโอติคส์เป็นการใหญ่นั่นแหละครับ
อ้อ มีรายงานเคสแปลกประหลาดอยู่บ้างคือ คนไข้บางคนที่เป็นหัดจนถึงขั้นสุดท้ายคือ ตุ่มขึ้นทั่วตัวแล้ว แต่ไข้ไม่ลด กลับปรากฏมีอาการป่วยอย่างอื่นคือ เกิดเป็นไส้ติ่งอักเสบก็ยังมีเลยครับ
เคสแบบนี้ก็คงต้องแก้ตามอาการไปอีกแหละครับ ถือว่าเป็นเคสที่แปลกน่าสนใจควรแก่การศึกษาค้นคว้าต่อไปเป็นอย่างยิ่ง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *