โรคร้ายอันดับ 3

โรคร้ายอันดับ 3
• คุณภาพชีวิต
เป็นได้ทั้งชาย – หญิง

มะเร็งลำไส้และมะเร็งที่ช่องทวารหนักเป็นมะเร็งขั้นอันตรายที่พัฒนามาจากเยื่อเมือกจำนวนมากในลำไส้ เป็นมะเร็ง ที่พบบ่อยในระบบทางเดินอาหาร

มะเร็งชนิดนี้พบมากในแถบอเมริกาตอนเหนือ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์และอังกฤษ พบได้น้อยในอินเดีย, โคลัมเบียและซีเนกัล โดยจะพบในแถบอเมริกามากกว่าซีเนกัลถึง 50 เท่า เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสามทั้งในชายและหญิง และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับสาม ในแต่ละปีมีชาวอเมริกันกว่า 170,000 คนเป็นโรคมะเร็งลำไส้และกว่า 60,000 คน เสียชีวิตด้วยมะเร็งนี้

ปัจจัยเสี่ยง
– อาหารที่รับประทานมีส่วนสำคัญอย่างมาก อาหารที่มีไขมันสูงและกากใยต่ำสามารถนำไปสู่มะเร็งลำไส้ได้ ในขณะที่ อาหารที่มีเส้นใยสูงจะช่วยดูแลร่างกายให้พ้นจากมะเร็ง
– ไม่แนะนำให้สูบบุหรี่ หรือยาสูบต่างๆ
– การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากๆ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งที่ลำไส้หรือในช่องทวารหนัก (ข้อมูลจาก Annals of Internal Medicine, 2005)
– พันธุกรรมก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่ง การมีติ่งเนื้อภายในลำไส้สามารถสืบทอดได้ทางพันธุกรรม

การเติบโตของมะเร็ง

มะเร็งจะเริ่มลุกลามเข้าไปในผนังลำไส้ ต่อเนื่องไปยังชั้นเนื้อเยื่อต่างๆของลำไส้ ไปถึงเยื่อบุช่องท้อง แล้วต่อไปจนถึงต่อมน้ำเหลือง จากนั้นก็จะลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆเช่นตับ, ปอด, สมองและกระดูก

ลักษณะอาการ

– ปวดท้อง, ท้องเสีย, ท้องผูก บางครั้งอาจมีอาการทั้ง 3 อย่างสลับกัน
– เลือดออกในเนื้องอกก่อให้เกิดเลือดออกในอุจจาระ ซึ่งหากเป็นสีแดงแสดงว่ามีเนื้องอกที่บริเวณช่องทวารหนัก และหากเป็นสีดำ แสดงว่ามีเนื้องอกอยู่ภายในลำไส้
– บางครั้งอาจรู้สึกแน่นท้อง ปวดท้อง เป็นไข้ น้ำหนักลด ไม่อยากอาหาร
– หากมีอาการตัวเหลืองและลำไส้อุดตันควรเข้ารับการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้
– การตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา, การส่องกล้องตรวจแบบ Sigmoidoscopy วิธีที่ดีกว่าคือส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่หรือถ่ายภาพของลำไส้ด้วยเครื่อง Visual 64-Slice MSCT
– การตรวจเนื้อเยื่อ
– การตรวจเลือดเพื่อหาตัวบ่งชี้มะเร็ง CEA , CA 19-9 และ CA 125 การตรวจเลือดที่แฝงในอุจจาระหรือ Hemocult นั้นนิยมตรวจกันมาก แต่ให้ผลการวิเคราะห์ที่ไม่แม่นยำ เนื่องจากอาจเป็นผลมาจากภาวะโลหิตจางเรื้อรัง

การรักษาโรคมะเร็งลำไส้

– การผ่าตัด เหมาะสำหรับก้อนเนื้อที่สามารถระบุตำแหน่งและผ่าออกได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของมะเร็ง
– การฉายรังสี ใช้ภายหลังการผ่าตัด
– การทำเคมีบำบัดเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งอีกครั้ง
– การทำรังสีบำบัดและเคมีบำบัดควบคู่กัน

การติดตามผลหลังจากการรักษา

– การตรวจร่างกายทั่วไป
– การส่องกล้อง โดยเฉพาะการส่องกล้องตรวจลำไส้
– การตรวจเลือดเพื่อหาตัวบ่งชี้มะเร็ง

การป้องกัน

– รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง
– เมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำว่าควรต้องเข้ารับการตรวจส่องกล้องที่ลำไส้ทุกๆ 3 ปี เพื่อหาติ่งเนื้อที่อาจกลายเป็นมะเร็ง
– นอกจากนี้ ควรตรวจเลือดเพื่อหาตัวบ่งชี้มะเร็งเป็นประจำ

เรื่องโดย : รัศมี ศรคำ Team Content www.thaihealth.or.th
ที่มา : MSC Malaysia

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *