เศรษฐกิจ : มองอนาคตโลกในอีก30ปีข้างหน้า ในภาคของสังคมต่อ

เศรษฐกิจ : มองอนาคตโลกในอีก30ปีข้างหน้า ในภาคของสังคมต่อ

โดย … ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com

ผมยังคงพูดถึงอนาคตโลกในอีก 30 ปีข้างในภาคของสังคมครับ โดยคาดการณ์ว่าโลกในอนาคต กำลังขยายสู่ความเป็นเมืองเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ก่อให้เกิดเป็นเมืองอุตสาหกรรม สร้างกระแสการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่เมืองเป็นจำนวนมาก โดยประเทศกำลังพัฒนาจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรเมืองอย่างรวดเร็ว ซึ่งการขยายตัวของเมืองดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาการกระจุกตัวของความยากจนในเขตเมือง การขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชากรเมือง ความไม่เพียงพอของการให้บริการจากหน่วยงานรัฐบาล ทั้งทางด้านการศึกษาและสวัสดิการอื่นๆ

นอกจากนี้ การกระจุกตัวของเมืองยังทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อม ทั้งการลดพื้นที่สีเขียวในเมืองเพื่อทำที่อยู่อาศัย ปัญหาการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำสู่ปัญหาทางด้านความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชากรเมือง ปัญหาสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงปัญหาการเพิ่มขึ้นของการก่ออาชญากรรมในเขตเมืองทั่วโลก

ทั้งนี้ จากทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางตะวันตก และแนวทางสากลที่มุ่งสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรม เป็นสังคมอุตสาหกรรมหรือสังคมเมืองมากยิ่งขึ้น โดยสัดส่วนจำนวนของประชากรในเขตเมืองในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี ค.ศ. 2010 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรเมือง คิดเป็นร้อยละ 33.73 และเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นร้อยละ 37.97 ในปี ค.ศ.2020 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2030 ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรที่อยู่อาศัยในเขตเมืองคิดเป็นร้อยละ 43.70 ซึ่งแสดงถึงสังคมไทยในอนาคตจะมีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดเข้ามาอยู่อาศัยในเขตเมือง เช่นเดียวกันกับการโยกย้ายถิ่นฐาน พบว่าในอนาคต จะมีการโยกย้ายถิ่นข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ด้านการเข้าเมืองที่มีแนวโน้มเป็นสากลและยืดหยุ่นมากขึ้น

สำหรับโครงสร้างครัวเรือนจะมีขนาดเล็กลง โดยคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ.2030 ผู้ที่อาศัยอยู่แบบครอบครัวเดี่ยวเพียงคนเดียวในครัวเรือนจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร เป็นต้น ส่วนคู่สมรสในหลายประเทศที่อยู่ในกลุ่มโออีซีดี ถูกคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่จะครองชีวิตคู่โดยไม่มีบุตรมากขึ้น ในขณะเดียวกันอัตราการหย่าร้างของประชากรโลกก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

สำหรับโครงสร้างครัวเรือนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ครอบครัวไทยจะมีลักษณะของครอบครัวใหญ่ มีการอยู่ร่วมกันแบบระบบเครือญาติ และมีการอยู่ร่วมกันอย่างน้อย 3 รุ่น โดยมีแนวโน้มที่จะมีโครงสร้างครัวเรือนเล็กลงกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น และมีรูปแบบการอยู่อาศัยในลักษณะใหม่ๆ เช่น อยู่คนเดียว อยู่กับคนที่ไม่ใช่ญาติมากขึ้น ในขณะที่แนวโน้มความสัมพันธ์ในครอบครัวมีความเปราะบางมากขึ้น อันเนื่องมาจากการพัฒนาและการแข่งขันทางวัตถุ ทำให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น และอ่อนแอ อัตราการหย่าร้างของคนไทยจึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

เห็นมั้ยล่ะครับ ว่าสังคมโลกและสังคมไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอนาคต ทำให้รัฐบาลต้องเตรียมรองรับทางนโยบายไม่ว่าจะเป็นนโยบายดูแลผู้สูงอายุ และนโยบายการจัดผังเมืองและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนเมือง ในครั้งหน้า ผมจะขอวิเคราะห์ทิศทางด้านสังคมต่อในประเด็นเรื่องสุขภาพ การศึกษาและวัฒนธรรมนะครับ

ที่มา : คมชัดลึก

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *