สุขภาพ : เวียนศีรษะ ปวดต้นคอ ปวดไหล่ แขนชา รักษาได้

สุขภาพ : เวียนศีรษะ ปวดต้นคอ ปวดไหล่ แขนชา รักษาได้

คอของเราประกอบด้วยกระดูกคอ (Cervical Spine) ทั้งหมด 7 ข้อ แต่ละข้อมีแผ่นกระดูกอ่อนหรือที่เรียกว่าหมอนรองกระดูกคั่นกลาง ทำหน้าที่ป้องกันการเสียดสีและเป็นเสมือนโช้คอัพเพื่อดูดซับและกระจายแรงอัด ส่วนกระดูกที่เราคลำได้เป็นตุ่มๆ ที่อยู่ด้านหลังของคอนั้นเป็นกระดูกที่ยื่นออกจากส่วนหลังของกระดูกคอ ตรงกลางของกระดูกนี้มีลักษณะเป็นรูให้ประสาทไขสันหลังและหลอดเลือดสอดผ่าน ระหว่างรอยต่อของกระดูกคอแต่ละข้อจะมีช่องว่างให้รากประสาทงอกออกมาเพื่อนำคำสั่งจากสมองไปยังกล้ามเนื้อที่ไหล่ แขนและมือ และรับความรู้สึกส่วนต่างๆ กลับไปยังสมอง กระดูกคอมีขนาดเล็กแต่ต้องแบกรับน้ำหนักของศีรษะที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา จึงเกิดความบอบช้ำบาดเจ็บได้ง่ายและเสื่อมได้เร็วกว่า ส่งผลกระทบต่อเส้นประสาท หลอดเลือดและไขสันหลังที่อยู่บริเวณเดียวกัน ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ไหล่และสะบัก ปวดร้าวและชาที่แขนและมือ พร้อมทั้งอาการอื่นๆ ที่สลับซับซ้อนจนบางครั้งนึกไม่ถึงว่าการเจ็บปวดทรมานนี้มาจากกระดูกคอเรานี่เอง

สาเหตุโรคกระดูกคอในทัศนะการแพทย์จีน…

การแพทย์จีนได้จัดโรคกระดูกคอให้อยู่ในกลุ่มโรคชาและปวดเมื่อย จากเส้นลมปราณติดขัด ซึ่งมีสาเหตุจากพลังลมปราณพร่องลงตามวัย ทำให้เลือดไหลเวียนช้าลงและเกิดภาวะเลือดคั่ง กีดขวางการไหลเวียนของโลหิตจนเกิดอาการปวด ตามหลักการวินิจฉัยและรักษาอันสำคัญของการแพทย์จีน ปวดแสดงว่าไม่โล่ง โล่งแล้วก็จะไม่ปวด ส่วนพิษของลมและเย็น-ชื้นที่สะสมในเส้นลมปราณบริเวณคอและไหล่จะจับตัวเป็นก้อน ทำให้เส้นลมปราณและหลอดเลือดติดขัดมากยิ่งขึ้น เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และกระดูกคอจะได้รับการหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอจึงเสื่อมลงได้เร็วขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติหลายๆ อย่าง

วิธีการบำบัดแบบองค์รวมของการแพทย์จีน…

การรักษาโรคกระดูกคอด้วยยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาสเตอรอยด์อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากเป็นเพียงการระงับอาการปวดและอักเสบไว้ชั่วคราวเท่านั้นและมิได้หยุดยั้งการลุกลามของโรค ที่สำคัญคือพิษของยาจะก่อให้เกิดการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารไม่ย่อยและเลือดออกในกระเพาะอาหาร พร้อมทั้งส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงนั้น วิธีการผ่าตัดอาจได้ผลดี แต่อาจไม่เหมาะกับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อีกทั้งผู้ป่วยหลายๆ คนก็ยังลังเลในเรื่องค่าใช้จ่าย ความยุ่งยากและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจตามมา ดังนั้น การแพทย์จีนจึงนิยมบำบัดโรคกระดูกคอด้วยวิธีแบบองค์รวมดังนี้

– ทะลวงหลอดเลือดและเส้นลมปราณบริเวณคอและไหล่สลายเลือดคลั่ง ทำให้หลอดเลือดและเส้นลมปราณโล่งขึ้น เส้นเอ็นกล้ามเนื้อและกระดูกคอจะได้รับการหล่อเลี้ยงได้มากขึ้น เพื่อบรรเทาอาการปวดและหยุดยั้งการลุกลามของโรค

– ขจัดพิษของลมและเย็นชื้นที่สะสมอยู่ตามบริเวณไหล่และคอ เพื่อขจัดสาเหตุสำคัญของโรคกระดูกคอ

– บำรุงเลือดลม กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต เลือดจึงไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น

– เสริมสร้างพลังลมปราณ ทำให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดภาวะเส้นลมปราณติดขัด

อาการปวดต้นคอ ไหล่และสะบัก อาการปวดร้าวและอ่อนแรงที่แขนและมือ อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สายตาพร่าและอาการอื่นๆ ที่เกิดจากโรคกระดูกคอจึงค่อยๆ ทุเลาลงหรืออาจหายไปในที่สุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *