เรียนรู้สู่ความเปลี่ยนแปลง

ปุจฉา
เรียนรู้สู่ความเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลง จะนำมาซึ่งอะไรบ้างค่ะพระอาจารย์ ที่ทำงานของดิฉันกำลังมีการเปลี่ยนแปลง เรื่องสายงาน แล้วทำให้อึดอัดลำบากใจมากกับเพื่อนร่วมงาน เพราะไม่สนิทใจที่จะร่วมมือกันทำงานเหมือนกว่าแต่ก่อน ทำให้บรรยากาศในที่ทำงานเปลี่ยนแปลงไปด้วยค่ะ พระอาจารย์ช่วยแนะนำวิธีให้ดิฉันสงบใจและมีสมาธิในการทำงานด้วยค่ะ

วิสัชนา
หลายวันมานี้ เห็นภาพและข่าวของคุณลัดดา แทมมี่ ดั๊กเวิร์ธ ซึ่งเป็น “หญิงไทยหัวใจหลอมเพชร” ที่เป็นหญิงไทยที่ไปปฏิบัติภารกิจให้กับกองทัพสหรัฐในสงครามอิรัก ด้วยการเป็นนักบินขับเฮลิคอปเตอร์ระหว่างสงคราม ต่อมาถูกระเบิดจนเสียขาไปสองข้าง แต่ก็ยังลุกขึ้นสู้ชีวิต จนเป็นที่ยกย่องอย่างกว้างขวางไปทั่ว ช่วงนี้เธอกลับมาโด่งดังไปทั่วสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกในฐานะที่ถูกเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีหนุ่มใหญ่ป้ายแดงบารัค โอบามา ให้มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงกิจการทหารผ่านศึก ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของนายบารัค โอบามาแล้วก็ได้แต่ชื่นชม

ชื่นชมในความเป็นนักสู้ชีวิต ที่มีวิธีคิดพร้อมยอมรับ “ความเปลี่ยนแปลง” ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ
คนเรานั้น อยู่ที่ไหนก็หนีไม่พ้นความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพราะความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากคนอื่นหยิบยื่นให้เรา แต่เป็นเพราะว่า “ความเปลี่ยนแปลง” นั้นเป็น “วิถีชีวิตของเรา” มาตั้งแต่ต้น คนที่ปฏิเสธ หรือไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นคนที่ไม่มีวุฒิภาวะในการดำเนินชีวิต ส่วนคนที่มีวุฒิภาวะในการดำเนินชีวิตเขาย่อมรู้ดีว่า ไม่มีใครหนีความเปลี่ยนแปลงพ้น เพราะชีวิตคือองค์รวมของความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นจนจบ
ไม่เร็วก็ช้า ความเปลี่ยนแปลงทั้งในทางดีหรือทางร้าย รุ่งโรจน์หรือร่วงโรย สุกสกาวหรือริบหรี่ ครึกโครมหรือสงบศานติ มีชีวิตชีวาหรือเหี่ยวเฉา สุขสมหรือข่มขืน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต้องเกิดขึ้นกับชีวิตของเราแน่นอน
ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา
ที่ผิดธรรมดา คือ ใจอันมืดมัวของเราที่ไม่รู้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง

ลองคิดดูว่า หากคนเราหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออก หรือหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้า
ลองคิดดูว่า หากเราใส่เสื้อผ้าชุดเก่าไปทำงานทุกวัน โดยไม่เปลี่ยนชุดใหม่เลยอะไรจะเกิดขึ้น
ลองคิดดูว่า หากเราทานแฮมเบอร์เกอร์หรือผัดกระเพราะไข่ดาวทุกวัน ร่างกายและจิตใจของเราจะมีอาการอย่างไร
ลองคิดดูว่า หากเรามีนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวตลอดไปโดยที่ไม่มีกฎหมายกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง และทั้งๆ ที่นายกรัฐมนตรีคนนั้นขาดภาวะผู้นำอย่างสิ้นเชิง แต่ประชาชนก็จำต้องก้มหน้าทนผู้นำเช่นนี้ไปจนตาย อะไรจะตามมา
ลองคิดดูว่า หากทุกคนที่เกิดมาในโลกแล้วอายุยืนตลอดไปไม่มีการตายเลยแม้แต่คนเดียว โลกนี้จะมีที่ว่างมากพอให้คนรุ่นหลังอยู่อาศัยได้หรือ
ลองคิดดูว่า หากธรรมชาติไม่จัดสรรให้ทุกอย่างมีการ “เปลี่ยนแปลง” เป็นกลไกอย่างหนึ่งของโลก ชีวิต และสรรพสิ่งแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ คง “นิ่งสนิท” หรือ “แข็งทื่อ” และ “ติดตัน” ไม่มีวิวัฒนาการอย่างสิ้นเชิง
โลก ชีวิต สรรพสิ่ง รวมทั้งอารยธรรม ที่ไม่มีวิวัฒนาการจะทำให้เราอยู่ในโลกนี้อย่างมีความสุขได้อย่างไร โลกนี้จะมีเสน่ห์ที่ตรงไหน
หากอะไรต่อมิอะไร ไม่ไหวเคลื่อนไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เสน่ห์ของวันพรุ่งนี้ รสชาติของชีวิตจะมีที่ตรงไหน
การเปลี่ยนแปลงเป็นครรลองของธรรมชาติ อันเป็นเรื่องสามัญธรรมดา ในโลกนี้ มีอะไรบ้างที่ไม่เปลี่ยนแปลง แท้ที่จริงสรรพสิ่งกำลังหมุนไปในกระแสของความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป เราเรียกสิ่งนั้นว่า “ตาย” แล้ว
คนที่ไม่พร้อมจะยอมรับการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายแล้ว
ด้วยเหตุดังกล่าวมา เราจึงไม่ควรกลัวความเปลี่ยนแปลง เนื่องเพราะความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้นำเอาแต่ด้านที่เลวร้ายมาให้เรา หากยังนำเอาด้านที่ดีของชีวิตและสรรพสิ่งมาสู่เราด้วย
นานหลายสิบปีมาแล้ว เมื่อสถาปนิกคนหนึ่งได้รับมอบหมายให้สร้างหอไอเฟล (ไอเฟล คือ ชื่อของสถาปนิก) ใจกลางกรุงปารีส เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของงานเอ็กซโปแห่งภาคพื้นยุโรป ปรากฏว่า มีแต่คนโจมตีงานออกแบบที่แข็งทื่อเพราะประกอบด้วยโครงสร้างเหล็กของเขากันทั้งเมือง แต่ไอเฟลไม่สนใจ เขายังคงลงมือทำงานของเขาไปท่ามกลางเสียงก่นด่าจนสำเร็จสมตามแบบที่เขาร่างไว้ทุกประการ
แต่เมื่องานก่อสร้างเสร็จสิ้นลง และเมื่องานแสดงสินค้าผ่านไปแล้ว ใครๆ ก็ชื่อชมหอไอเฟล ใครๆ ก็เล่าลือกันว่า นี่คือสิ่งปลูกสร้างสุดมหัศจรรย์ ใครๆ ก็บอกต่อกันว่า หากคุณไปเยือนฝรั่งเศส ต้องไม่พลาดที่จะไปถ่ายรูปกับหอไอเฟล
ทุกวันนี้ หอไอเฟล คือ สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศฝรั่งเศส
เห็นหรือยังว่า ก่อนหน้าที่หอไอเฟลจะเกิดขึ้นมานั้น ผู้คนมีชีวิตอยู่ใน “ความเคยชินแบบเดิม” พอมีหอไอเฟลขึ้นมา นี่เป็นสิ่งใหม่ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ขึ้นมาในปารีส และสิ่งนี้ที่มีแต่คนต่อต้านในช่วงต้น กลับกลายมาเป็นความภาคภูมิใจในช่วงปลาย นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับสิ่งใหม่ๆ ที่ในตอนแรกผู้คนก็ต่อต้าน แต่เมื่อผ่านคืนวันไปแล้ว การต่อต้านกลับพลิกเป็นเสียงสรรเสริญชื่นชมเห็นดีเห็นงามอย่างไม่น่าเชื่อ
ความเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมเป็นนิรันดร์
อย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง เพราะนี่คือวัฏจักรอันเป็นธรรมดาสามัญของโลก ชีวิต และสรรพสิ่ง
บ่อยครั้ง เรามักวิตกไปว่า ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่กำลังทยอยเกิดขึ้นมาในชีวิตหรือในสังคมของเราคือสิ่งเลวร้าย แต่พอเราปรับใจให้ยอมรับ กลับพบว่า ความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป แต่ในบางกรณี นำสิ่งที่ดีกว่ามาสู่ชีวิตเสียด้วยซ้ำ
จงเปิดใจให้กว้าง พร้อมยิ้มรับความเปลี่ยนแปลง
เพราะความเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นนิรันดร์
หากความเปลี่ยนแปลงนำสิ่งที่ดีมาสู่ชีวิต ก็จงยิ้มรับ
แต่หากความเปลี่ยนแปลงนำสิ่งที่เลวร้ายมาให้ชีวิต ก็จงยิ้มสู้
มีแต่ “ยิ้มรับ” และ “ยิ้มสู้” เท่านั้น คุณจึงจะสามารถอยู่กับความเปลี่ยนแปลงอย่างรื่นรมย์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *