เครียด… ฆาตกรเงียบในหมู่เยาวชน


เครียด… ฆาตกรเงียบในหมู่เยาวชน
 
วันที่ : 28 มิถุนายน 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์
 
           ช่วงเดือน พฤษภาคม ถึง มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ฆ่าตัวตายของเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ นักเรียนหญิงสอบติดมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ไม่สามารถเข้าเรียนเพราะฐานะยากจน ตัดสินใจผูกคอตายในวันลงทะเบียนนักศึกษาใหม่ ตามมาด้วยเหตุการณ์นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระโดดตึกฆ่าตัวตาย คาดว่าสาเหตุมาจากกลัวพลาดเกียรตินิยม ล่าสุดนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุมใช้สายไฟกระทะไฟฟ้าผูกคอตาย เพราะกลัวพ่อตำหนิที่เรียนติดเอฟ ทั้ง 3 เหตุการณ์ เป็นเพียงเหตุการณ์ที่ปรากฏในข่าว และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่ไม่ปรากฏในสื่อ
 
           ความเครียดในเด็กและเยาวชนดังกล่าวเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมที่แข่งขันสูงโดยเฉพาะด้านการเรียน รวมถึงด้านฐานะทางครอบครัว และการที่ครอบครัวคาดหวังในตัวเด็กสูง การมุ่งเน้นพัฒนาทางวิชาการจนอาจละเลยการพัฒนาด้านสังคม ความฉลาดทางอารมณ์ ทักษะการเผชิญและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
 
           ฉะนั้น เพื่อหาแนวทางเยียวยาเยาวชนและคนในสังคม ให้สามารถแก้ไขปัญหา และป้องกันความเครียดเยาวชนไทย ต้องเกิดจาการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ได้แก่
 
           สถานศึกษา ควรจัดการเรียนที่พัฒนาทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล สอนทักษะการควบคุมตนเอง เมื่อเผชิญแรงกดดันจากครอบครัว ปัญหาการเรียน หรือปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น สถานศึกษาอาจจัดกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด อาทิ กิจกรรมชมรม กิจกรรมสาธารณประโยชน์ หรือมีนักจิตวิทยามาให้คำปรึกษา รวมถึงการให้ครูควรมีส่วนร่วมในการดูแลเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย รวมถึงเด็กที่เรียนเก่งมาก ๆ ต้องทำกิจกรรมและเข้าสังคมร่วมกับคนอื่น เพื่อลดและบรรเทาความเครียด สามารถหาความสุขใส่ตัวได้
 
           กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรมีหลักสูตรพัฒนาทักษะทางความคิดและอารมณ์อย่างเป็นระบบ ทุกช่วงชั้น รวมถึงมีการพัฒนาระบบและติดตามการประเมินผลความฉลาดทางอารมณ์ของผู้เรียนทุกระดับชั้นด้วย
 
           ครอบครัว ควรจัดแบ่งเวลาอย่างเจาะจงให้บุตรหลานเข้ามาพูดคุย ซึ่งช่วยลดความเครียดและหาทางออกให้ปัญหาที่บุตรหลานเผชิญอยู่ อีกทั้ง ควรหลีกเลี่ยงคำพูดหรือพฤติกรรมที่สร้างความเครียดให้บุตรหลาน เช่น ไม่พูดเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น ไม่ลงโทษโดยไม่มีเหตุผลอันควร เป็นต้น
 
           ชุมชน ควรมีส่วนช่วยลดความเครียดและป้องกันการฆ่าตัวตายของเยาวชนได้ ซึ่งชุมชนในกรุงเทพฯ สามารถดำเนินการเป็นตัวอย่างได้ อาทิ ชุมชนควรมีสถานที่ผ่อนคลายความเครียด เช่น สถานที่ออกกำลังกาย สวนสาธารณะประจำชุมชน ฯลฯ ตามแต่สภาพของชุมชน หากชุมชนไม่มีที่สาธารณะประโยชน์ อาจจัดให้มีนักจิตวิทยาเข้ามาให้คำปรึกษาแก่เยาวชนในชุมชน ตัวอย่าง กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่มีประชากรหนาแน่น ควรมีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และจัดสวนสาธารณะให้มีกิจกรรมเชิงความรู้กระจายทุกเขตพื้นที่ เพื่อให้เยาวชนได้มีกิจกรรมผ่อนคลายเครียดตามความถนัดและความสนใจของตนเอง
 


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *