หัวใจของผู้ประกอบการ (บิล เกตส์)


หัวใจของผู้ประกอบการ (บิล เกตส์)

วันที่ : 10 เมษายน 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : Hi-Class V.266

“ความก้าวหน้ายิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติไม่ได้อยู่ในสิ่งที่เขาค้นพบ — แต่อยู่ที่ว่าเขาได้นำสิ่งที่เขาค้นพบนั้นมาประยุกต์ใช้เพื่อลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ไม่ว่าจะโดยผ่านระบบประชาธิปไตย ระบบการศึกษาที่เข้มแข็ง ระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ หรือโอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างขึ้น – การลดปัญหาความไม่เท่าเทียมนับเป็นความสำเร็จสูงสุดของมนุษย์”

วาทะของ บิล เกตส์ (Bill Gates) เจ้าของบริษัทไมโครซอร์ฟ กล่าวเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา ในวาระที่ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัย Harvard ให้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ ช่วงเวลาดังกล่าว ผมเป็นนักวิชาการอาวุโส (Senior Fellow) ที่นั่น มีโอกาสได้ฟังและเกิดความรู้สึกประทับใจในคำกล่าวที่สะท้อนความจริงใจข้างต้น

บิล เกตส์ เคยเรียนที่ Harvard แต่ได้ลาออกก่อนสำเร็จการศึกษา เพื่อไปเริ่มต้นธุรกิจคอมพิวเตอร์จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ปริญญานี้จึงถือเป็นปริญญาใบแรกที่เขาได้รับ

ในวันนั้น หลังจากได้รับมอบปริญญาบัตรแล้ว บิล เกตส์ ได้รับเชิญจากทางมหาวิทยาลัยให้กล่าวปาฐกถาเพื่อให้ข้อคิดแก่บัณฑิตจบใหม่ 15,000 คน ใจความสำคัญในถ้อยคำของเขาคือ การปลุกให้บัณฑิตเหล่านี้ให้หันมาเอาใจใส่ต่อสังคม และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคมมากขึ้น โดยอาศัยศักยภาพ ความสามารถ และเวลาที่มีอยู่ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดก็ตาม

ผมคิดว่า ถ้าผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และบุคลากรในสาขาอาชีพใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในองค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชน เข้ามามีส่วนรับผิดชอบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รับผิดชอบต่อส่วนรวม ดำเนินชีวิตด้วยยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม ปรารถนาให้คนในสังคมได้รับสิ่งที่ดี สังคมของเราย่อมพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ จากความเห็นแก่ตัวย่อมลดลง

ในระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา เราพบว่า ในประเทศไทยธุรกิจจำนวนหนึ่งเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสังคมมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น หากจะหวังให้ภาคธุรกิจทำหน้าที่เป็นตัวแสดงหลักที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคม ข้อจำกัดที่สำคัญของภาคธุรกิจนั่นคือ เป้าหมายของธุรกิจทั่วไปจะอยู่ที่ความอยู่รอดทางธุรกิจ มากกว่าการมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมอย่างเจาะจง

ท่ามกลางข้อจำกัดที่เห็นอยู่นี้ เราพบการขยายตัวของอีกภาคส่วนหนึ่งของสังคมที่เรียกว่า “ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (social entrepreneurs)” หรือกลุ่มคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างเจาะจง สามารถค้นพบและสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ ในการจัดการหรือลดทอนผลสืบเนื่องเชิงลบของปัญหานั้น แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า คนเหล่านี้ยังไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสังคมไทยเท่าที่ควร

ทั้งนี้ในส่วนตัวผมเองได้ริเริ่มจัดตั้ง “กองทุนเวลาเพื่อสังคม” มากว่า 15 ปีแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตสาธารณะในทุกระดับการศึกษา ในทุกสาขาอาชีพ ทุกสถานะทางเศรษฐกิจจัดสรรเวลาว่าง อุทิศเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีให้เกิดขึ้นในบางมุมบางด้านของสังคม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ก้าวเล็ก ๆ ที่เราได้เริ่มต้นทำเพื่อสังคมไทยในวันนี้ จะมีคนอีกเป็นจำนวนมากเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ของการรังสรรค์สังคมให้ดีขึ้น ผ่านกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ ในเวลาว่างของแต่ละคน

ผมคิดว่า หากมีการส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคมมากขึ้น และพัฒนาคนกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ สังคมไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการที่คนกลุ่มนี้เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมที่ประสบอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ภาครัฐเอื้อมไปไม่ถึง และภาคธุรกิจไม่สนใจจะช่วยเหลือ

ย้อนกลับไปคิดถึง บิล เกตส์ ในตอนท้ายของปาฐกถาในวันนั้น เขาได้แสดงความตั้งใจอย่างชัดเจนในการอุทิศตัวและเวลาเพื่อร่วมแก้ปัญหาของสังคม โดยจะถอนตัวจากธุรกิจเพื่อการค้า และหันมาทำงานเพื่อสังคมอย่างเต็มรูปแบบผ่านมูลนิธิที่เขาตั้งขึ้น การตัดสินใจของเขาสะท้อนให้เห็นว่า คุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง คือ การดำรงชีวิตอยู่เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและสร้างสรรค์สิ่งดีแก่สังคม มิใช่การสั่งสมความมั่งคั่งให้กับตนแต่อย่างใด


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *