สุขภาพ : หน้าฝนระวังปอดบวม

สุขภาพ : หน้าฝนระวังปอดบวม

โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) พอเข้าฤดูฝนหลายคนอาจรู้สึกไม่ค่อยสบาย หรืออาจเจ็บป่วยกันมากขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีเชื้อโรคหลายตัวที่มากับฝน โดยเฉพาะเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบไปจนถึงโรคที่เกี่ยวกับปอด

สถานการณ์ทั่วไปจากรายงานของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่เดือนมกราคม-14 มีนาคม 2552 พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบของประเทศจำนวน 22,827 ราย อัตราป่วยคิดเป็นร้อยละ 36.21 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 143 ราย รายงานข้อมูลทางสถิติของโรงพยาบาลพญาไท 2 ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจำนวน 112 ราย และเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 90 ราย ซึ่งเป็นอันดับสูงสุด

โรคปอดอักเสบชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “ปอดบวม” หมายถึง การอักเสบของเนื้อปอด มีหนองขัง บวม จึงทำหน้าที่ไม่ได้เต็มที่ ทำให้การหายใจสะดุด เกิดอาการหายใจหอบ เหนื่อย อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ จึงนับว่าเป็นโรคร้ายเฉียบพลันชนิดหนึ่ง

สาเหตุของโรค เกิดจาก

1.เชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อยได้แก่ เชื้อ Pneumococcus และที่พบน้อย แต่ร้ายแรง ได้แก่ Staphylococcus และ Klebsiella

2.เชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด สุกใส เชื้อไวรัสซาร์ส (SARS virus)

3.เชื้อไมโคพลาสมา ทำให้เกิดปอดอักเสบชนิดที่เรียกว่า Atypical pneumonia เพราะมักจะไม่มีอาการหอบอย่างชัดเจน

4.อื่นๆ เช่น สารเคมี, เชื้อ Pneumocystis carinii ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบในผู้ป่วยเอดส์, เชื้อรา พบน้อย แต่รุนแรง เป็นต้น

การติดต่อ

เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุมักจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วยและสามารถแพร่กระจายโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน การสำลักเอาสารเคมี หรือเศษอาหารเข้าไปในปอด การแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด เช่น การฉีดยา การให้น้ำเกลือ การอักเสบในอวัยวะส่วนอื่น เป็นต้น

อาการและอาการแสดง

อาการของผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

1.กลุ่มที่มีอาการชัดเจน อาการจะปรากฏภายในระยะเวลา 1-2 วัน และอาการจะแย่ลงเร็ว มีอาการไข้ หนาวสั่น ไอมีเสมหะสีเขียว สีเหลืองหรือไอมีเลือดปน เหนื่อยหอบและหายใจลำบาก เจ็บหน้าอกโดยเฉพาะเวลาไอ หรือหายใจเข้า-ออกลึกๆ

2.กลุ่มที่มีอาการไม่ชัดเจน อาการจะค่อยเป็นอย่างช้าๆ และใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ ก่อนที่จะปรากฏอาการปอดอักเสบอย่างชัดเจน บางคนมีอาการคล้ายไข้หวัด จะมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว หรือปวดตามข้อ อาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

อาการของโรคจะรุนแรงมากขึ้นถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด ผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยสูงอายุ เป็นต้น

โรคแทรกซ้อน

โรคนี้อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น ปอดแฟบ, ฝีในปอด, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ, ข้ออักเสบเฉียบพลัน, โลหิตเป็นพิษ ที่สำคัญ คือ ภาวะขาดออกซิเจนและภาวะขาดน้ำ ซึ่งพบในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

การดูแลรักษา

1.สำหรับผู้ป่วยเริ่มเป็น ยังไม่มีอาการหอบ ให้ดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัวลดไข้หรือให้ยาลดไข้และยาปฏิชีวนะ ถ้าอาการดีขึ้นใน 3 วัน ควรได้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีก 1 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นหรือกลับมีอาการหอบ ควรแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์

2.ถ้ามีอาการหอบ หรือสงสัยว่ามีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน หากรักษาไม่ทันอาจถึงแก่ชีวิตได้

การป้องกัน

1.พักผ่อนให้เพียงพอและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ

2.รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ และอาหารเสริมสุขภาพในปริมาณที่พอเหมาะ

3.ไม่ควรสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด

4.เด็กเล็กควรดูแลอย่างใกล้ชิดและคอยระวังไม่ให้เด็กสำลัก ควรแยกของเล่นชิ้นเล็กๆ ออกห่างจากมือเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนำเข้าปาก

5.เมื่อเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด สุกใส ฯลฯ ควรดูแลรักษาเสียแต่เนิ่นๆ หากมีอาการไม่ดีขึ้นให้รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุด

โรคปอดอักเสบเป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ที่สำคัญเมื่อสงสัยว่าป่วยเป็นโรคนี้ต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ อย่างไรก็ตาม หากเราดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจด้วยการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะเป็นกำแพงป้องกันโรคภัยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *