สหกิจศึกษา คือ คำตอบสุดท้าย สร้างกำลังคนโลจิสติกส์

สหกิจศึกษา คือ คำตอบสุดท้าย สร้างกำลังคนโลจิสติกส์

 

Written by Administrator   
Friday, 20 June 2008 04:07
Sample image

  สหกิจศึกษา คือ คำตอบสุดท้าย สร้างกำลังคนโลจิสติกส์  
Dr.Sitichai Farlangthong
วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก 
                เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “โครงการสหกิจศึกษาสำหรับหลักสูตรโลจิสติกส์” โดยสำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษาร่วมกับสำนักประสานงานและส่งเสริมกิจการอุดมศึกษาและสมาพันธ์โลจิสติกส์แห่งประเทศไทย ได้เชิญผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ ผู้บริหาร คณาจารย์ที่ดูแลหลักสูตรด้านโลจิสติกส์ของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ซึ่งต้องการผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ พ.ศ.2550-2559 ที่กำหนดยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนากำลังคนและกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนด้านโลจิสติกส์ตามแผนปฏิบัติการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งต้องการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตของสถาบันอุดมศึกษาให้มีความรู้ ทักษะที่ตรงตามความต้องการของภาคเอกชนมากขึ้น

                สำหรับโครงการสหกิจศึกษา (Cooperative Education) เป็นการศึกษาที่ทำร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับองค์กรผู้ใช้บัณฑิต ซึ่งเป็นระบบการศึกษาที่เน้นประสบการณ์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานจริงในองค์กรผู้ใช้บัณฑิต (Work Based Learning) หรือการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work Integrated Learning) โดยรูปแบบสหกิจศึกษานั้น นักศึกษาสหกิจได้รับหน่วยกิตไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต (ระบบทวิภาค) โดยออกเป็นเกรด ทำงานไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานเต็มเวลา มีฐานะเป็นพนักงานชั่วคราวของบริษัทที่มีตำแหน่งงานชัดเจน และมีการกำหนดลักษณะงานความรับผิดชอบที่ชัดเจน นอกจากนี้ ยังมีพี่เลี้ยง (Mentor) และอาจารย์ที่ปรึกษา (Advisor) รวมทั้งมีการประเมินผลด้วย
               สำหรับเหตุผลที่จะต้องมีการดำเนินโครงการสหกิจศึกษาในสาขาวิชาโลจิสติกส์ คุณเกริกกล้า  สนธิมาศ  ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า  การเปิดเสรีการค้าภาคบริการได้เริ่มดำเนินการแล้วในปีนี้ แต่บุคลากรทางด้านนี้ ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ และการเปิดเสรีนี้ ยังทำให้การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นฯ และมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มดำเนินการ (ดังตาราง)

สาขาบริการ สัดส่วนการถือหุ้นฯ-กำหนดเวลา
การขนส่งทางอากาศเทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพ และการท่องเที่ยว  51%  –  200870%  –  2010
โลจิสติกส์ 49% (2008)  51% (2010)  70% (2013)
สาขาอื่น ๆ 49% (2008)  51% (2010)  70% (2015)

               นอกจากนี้ ในปี 2009 จะเริ่มมีผลตามกรอบสัญญาอาเซียนเรื่องการขนส่งสินค้าผ่านแดน และปี 2010 จะเป็นเรื่องของรูปแบบการขนส่งหลายรูปแบบ รวมทั้งมีข้อสังเกตด้วยว่า หากมีการถือสัดส่วนหุ้นได้ถึง 70% จะเกิดอำนาจในการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ และหากบุคลากรภายในประเทศยังขาดแคลนและขาดความรู้ความสามารถทักษะความชำนาญก็อาจมีการนำเข้าบุคลากรจากประเทศอินเดีย เวียดนาม ที่มีความพร้อมทั้งภาษาอังกฤษความรู้ความสามารถเข้ามาแทนที่บุคลากรภายในประเทศ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจะกลายเป็นความยากลำบากของสถาบันอุดมศึกษาและผู้ประกอบการ
              อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นด้วยกับโครงการในลักษณะนี้ แต่มีข้อคิดเสริมเพิ่มเติมด้วยว่า ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เลยในวงการศึกษากับสถานประกอบการ ซึ่งเดิมนั้นได้มีการส่งนักศึกษาเข้าไปฝึกงานหรือเรียนรู้งานอยู่แล้ว เพียงแต่ได้เพิ่มความเป็นระบบที่มากขึ้น และหากมองโครงการนี้ให้ลึกซึ้งจะพบว่าในระดับอาชีวศึกษาก็ได้มีการดำเนินการมานานแล้ว ก็ต้องบอกว่าสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี เพียงแต่ว่าขณะนี้สาขาวิชาโลจิสติกส์เป็นสาขาวิชาใหม่ที่มีความต้องการกำลังคนจำนวนมากในภาคเอกชน และศาสตร์โลจิสติกส์นั้น มีความเป็นสหวิทยาการ ไม่ใช่เป็นศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้รวมถึงศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์ พานิชนาวี เศรษฐศาสตร์ และการบริหารธุรกิจรวมเข้าไปด้วย ดังนั้น ด้วยความที่เป็นสหวิทยาการจึงทำให้สถาบันการศึกษาไม่สามารถลงรายละเอียดของหลักสูตรได้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการภาคเอกชนมากนัก เนื่องจากการปรับปรุงหลักสูตรจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปี ในขณะที่ภาคธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนจะมีความชำนาญเฉพาะด้านแตกต่างกันไปในการเปิดการเรียนการสอนที่จะผลิตบัณฑิตสู่สถานประกอบการ จึงเป็นโครงการที่เป็นการเติมเต็มระหว่างสถาบันการศึกษากับผู้ประกอบการ อีกทั้งปัจจุบันธุรกิจภาคเอกชนกำลังให้ความสนใจทำโครงการการทำสิ่งดี ๆ ตอบแทนให้กับสังคมโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนในเชิงธุรกิจ (Corporate Social Responsibility :CSR) จึงน่าจะใช้โอกาสนี้ในการผลักดันและจูงใจให้เกิดความร่วมมือซึ่งกันและกันอย่างยั่งยืน
            สำหรับการประชุมครั้งนี้ นับเป็นการจุดประกายให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาจะต้องปรับตัวเข้าหากันในอันที่จะให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ ความชำนาญตรงตามความต้องการ และทำให้เกิดความสามารถเชิงการแข่งขันในยุคเปิดเสรีทางการค้าได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายหลัก ๆ 3 ประการ ดังนี้
1. บัณฑิตที่จบการศึกษาด้วยหลักสูตรสหกิจศึกษาเมื่อเข้าสู่โลกการทำงานจะใช้เวลาเรียนรู้งานน้อยลง เข้าใจระบบการทำงานในองค์กรและปรับตัวได้เร็วขึ้น
2. เป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปอุดมศึกษาที่จะกลับมาให้ความสำคัญกับภาคเอกชนและสนองตอบความต้องการ/ความพึงพอใจขององค์กรผู้ใช้บัณฑิต รวมทั้งเกิดความร่วมมือกันในทางวิชาการ เกิดองค์ความรู้ใหม่ และมีงานวิจัยเชิงพาณิชย์ เพื่อการพัฒนาปรับปรุงระบบการทำงานระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรผู้ใช้บัณฑิตต่อไป
3. องค์กรผู้ใช้บัณฑิตสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิต ไม่เสียเวลาและงบประมาณในการพัฒนาความพร้อมของพนักงานใหม่ นอกจากนี้ สามารถใช้กระบวนการสหกิจศึกษาในการสรรหาพนักงาน อันจะทำให้ลดความเสี่ยงในการคัดเลือกพนักงานใหม่ที่ไม่มีประสิทธิภาพได้
           อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อคิดสำหรับการเตรียมความพร้อมต่อการดำเนินการโครงการสหกิจศึกษาของผู้ประกอบการภาคเอกชนเบื้องต้นคือ 1.ในเรื่องจำนวนองค์กรผู้ใช้บัณฑิต ตำแหน่งงาน และลักษณะงาน ต้องเพียงพอต่อการรองรับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในการเข้าร่วมโครงการสหกิจศึกษา  2. ต้องมีการกำหนดความชัดเจนและความต่อเนื่องในระดับนโยบายของบริษัท โดยเฉพาะในเรื่องของค่าตอบแทนและสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับนักศึกษา และ 3.  การเตรียมความพร้อมในเรื่องของระบบพี่เลี้ยง สถานที่ปฏิบัติงาน
           ส่วนสถาบันอุดมศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.ไทย  ทิพย์สุวรรณกุล อธิการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เสนอแนะว่า แนวทางการจัดการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษาควรมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของ 1.การพัฒนาหลักสูตร จัดในภาคเรียนไหนก็ได้  นักศึกษาไม่มีสิทธิลงทะเบียนเรียนในภาคสหกิจศึกษา และออกแบบนักศึกษาสหกิจในแต่ละปีที่จะไปทำงานกับสถานประกอบการ 2.การบริหารหลักสูตร มีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงและมหาวิทยาลัยสนับสนุนจริงจัง และบริหารโดยองค์คณะบุคคลในรูปกรรมการร่วม เช่น มีผู้ช่วยอธิการบดีและมีเจ้าหน้าที่รวมประมาณ 8 คน เป็นต้น 3. การจัดการเรียนการสอน อยู่ในรูปของคณะกรรมการ มีอาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาในการเชื่อมโยงกับองค์กรธุรกิจ ซึ่งก็จะได้ประสบการณ์จริงโดยตรงจากการทำงานของสถานประกอบการ มีการกลั่นกรองนักศึกษาและมีการเตรียมความพร้อมก่อนส่งไปสถานประกอบการ รวมทั้งมีระบบรองรับไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่จะรับเรื่องการติดต่อ 4. การติดตามประเมินผล  ควรมีการประเมินผลการศึกษาและการประเมินผลการดำเนินงาน ในรูปของคณะกรรมการฯ ประเมินผล ซึ่งจะต้องมีการตกลงร่วมกันกับสถานประกอบการ โดยจะต้องไม่ทำในภาคเรียนสุดท้ายของการเรียน เช่น เมื่อนักศึกษาจบสหกิจศึกษากลับมาควรมีการนำเสนอกิจกรรม หากผ่านหรือเกินเกณฑ์ที่กำหนดจะมีการให้รางวัล นอกจากนี้ จะมีการทำวิจัยในประเด็นที่สนใจร่วมกัน และจะต้องทำเป็นระยะ ๆ ตลอดโครงการสหกิจศึกษา และ 5. แนวทางการพัฒนางานสหกิจศึกษา จะต้องแสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติมและสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรอย่างสม่ำเสมอ
          ซึ่งในภาวการณ์แข่งขันยุคโลกาภิวัฒน์นั้น การสร้างความสามารถทางการแข่งขันแบบสำเร็จรูปให้ได้ทันใจทันใช้นั้น คำตอบสุดท้ายก็คือ โครงการสหกิจศึกษาที่จะได้กำลังคนโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพตรงใจผู้ประกอบการภาคเอกชน ถือว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพียงแต่อย่าให้การดำเนินการโครงการนี้เป็นแบบไฟไหม้ฟาง ก็น่าจะเป็นจิ๊กซอว์สออกมาเป็นรูปที่สวยงามได้

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *