วัยทองทางความคิด


วัยทองทางความคิด
สุขภาพใจ
อีกหนึ่งตัวการสำคัญสร้างปัญหา

ปัจจุบันคุณผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา ‘วัยทอง’ (Menopause) ในด้านที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย เพราะวัยทอง คือ วัยหมดประจำเดือน มักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงในวัย 40 ปีขึ้นไป หรืออย่างช้าราว 55 ปี

เมื่อเข้าสู่วัยดังกล่าว รังไข่ จะผลิตฮอร์โมนเพศน้อยลงจนกระทั่งหยุดการผลิต สำหรับฮอร์โมนเพศที่จะหายขาดไปจากร่างกายนั้น คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่ช่วยให้ระบบประสาทอัตโนมัติของสตรีทำงานได้อย่างปกติ ส่งผลต่อระบบความจำที่ดี ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ระบบปัสสาวะปกติ ช่องคลอดชุ่มชื้น เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว เสริมการทำงานของหัวใจและความแข็งแกร่งของกระดูก

ฮอร์โมนเพศอีกตัว คือ โปรเจสเตอโรน (หรือ โปรเจสโตเจน) เป็นส่วนสำคัญให้การตั้งครรภ์ของสตรีเป็นไปอย่างสมบูรณ์ แต่ในขณะที่ไม่มีการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนชนิดนี้จะปรับเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาตัวจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ให้หลุดออกมากลายเป็นประจำเดือน

ผลจากขาดฮอร์โมนตัวสำคัญทั้งสองนั้น จะทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ บางคนมามาก บางคนมาน้อยกว่าปกติ จนกระทั่งหมดประจำเดือน นอกจากนี้ยังรู้สึกร้อนวูบวาบ เหยื่อออกมาก นอนไม่หลับ หงุดหงิด ใจสั่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ผิวหนังเหี่ยวย่น ผมร่วง เล็บเปราะบางหักง่าย ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ ช่องคลอดแห้ง และรู้สึกเจ็บแสบขณะมีเพศสัมพันธุ์ มีโอกาสจะป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน เผชิญภาวะไขมันในเลือดสูงทำให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด

อาการที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ที่มักส่งผลมาถึงจิตใจ ผู้หญิงที่กำลังเข้าสู่วัยทองหลายคนจะรู้สึกเครียด โดยนายแพทย์วิโรจน์ ตระการวิจิตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช และผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครธน กล่าวถึง ‘หลุมพรางทางความคิด’ ไว้ในงานเสวนา ‘พลังสาว 40+’ ตอน ประตูสู่ความสำเร็จ โดยรักลูกกรุ๊ป สำหรับหลุมพรางทางความคิด เป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญสร้างปัญหาให้กับผู้หญิงวัยทอง แบ่งได้ 6 ลักษณะ คือ

เริ่มจาก ‘คิดไม่มีเป้าหมาย’ เป็นการคิดไปเรื่อยเปื่อย คิดแล้วไม่เกิดประโยชน์

‘คิดไปทางเดียว’ คือ การคิดเข้าข้างตนเอง ถือเป็นการคิดที่ตกหลุมพรางลึกมากที่สุด ทำให้จิตใจไม่มีพลัง

‘คิดหมกมุ่น’ เป็นการคิดในระดับจิตสำนึก โดยผลที่ได้จากการคิดอย่างหมกมุ่นก็คือความว่างเปล่า เพราะคิดมากเสียจนคิดอะไรไม่ออก

‘คิดในเรื่องที่ไม่ควรคิด’ คือการคิดถึงเรื่องของคนอื่น ไม่คิดถึงตนเอง

‘ไม่เรียนรู้ที่จะคิด’ อาจเป็นผลพวงมาจากการเรียนที่เราถูกฝึกให้ท่องจำมากกว่าการใช้ความคิด จึงทำให้การคิดที่จะแก้ไขปัญหาเป็นไปได้ยาก ต้องเรียนรู้วิธีคิดด้วยตนเอง

และ ‘คิดว่า ความคิด คือ ตัวตน’ ซึ่งเกิดจากความเข้าใจว่า ความคิด คือ คำตอบของทุกสิ่งทุกอย่าง ในขณะที่ความเป็นจริงนั้น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ มากมาย

นายแพทย์วิโรจน์ ยังแนะนำด้วยว่า หากเราไม่ตกหลุมพรางทางความคิดทั้ง 6 หลุม และสามารถควบคุมความคิดของตนเอง ยอมรับในความเปลี่ยนแปลง และอยู่กับปัจจุบันให้ได้ ปัญหาทางจิตใจหรือความเครียดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวัยทองก็จะลดน้อยลง

ที่มา/ภาพ: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Update: 12-10-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *