รีโมตคอนโทรล ซีอีโอ ตอนที่ 1

รีโมตคอนโทรล ซีอีโอ ตอนที่ 1
มองมุมใหม่ : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย pasu@acc.chula.ac.th กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2548
ผมได้มีโอกาสเจอผู้บริหาร ที่เป็นเจ้าของกิจการหลายท่าน ที่ไม่สามารถปล่อยวางหรือละจากธุรกิจได้ หลายๆ ท่านที่สร้างกิจการขึ้นมาตั้งแต่ต้น มักจะชอบบ่นว่าเหนื่อย อยากจะเข้าที่ทำงานให้น้อยลง อยากจะมีชีวิตส่วนตัวมากขึ้น อยากจะใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น หรืออยากจะท่องเที่ยวมากขึ้น
แต่สุดท้าย ผู้บริหารเหล่านั้นก็ไม่สามารถปล่อยมือหรือละจากธุรกิจของตนเองได้ โดยข้ออ้างที่มักจะเจอก็หนีไม่พ้นว่า ถ้าไม่เข้าไปที่ทำงานวันไหน จะเกิดกลียุคขึ้นในที่ทำงาน หรือถ้าไม่ได้เข้าไปที่สำนักงานแล้วพนักงานก็จะไม่ตั้งใจทำงาน หรือถ้าวันไหนไม่อยู่ก็ไม่มีคนตัดสินใจอะไรได้ ไม่ทราบว่าผู้อ่านได้มีโอกาสเจอผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการในลักษณะนี้บ้างไหม?
พอดีไปเจอบทความหนึ่งใน วารสาร Inc. Magazine ฉบับเดือนตุลาคม 2548 ที่พูดถึงซีอีโอที่เป็นเจ้าของกิจการท่านหนึ่งที่ในสัปดาห์ๆ หนึ่งใช้เวลาอยู่กับบ้านสี่วัน และเข้าไปที่ทำงานแค่หนึ่งวันต่อสัปดาห์ โดยที่ผู้บริหารท่านนี้ก็ยังเป็นซีอีโอที่เต็มเวลาอยู่ และบริษัทของเขาก็เจริญเติบโตอย่างดีเสียด้วย
ผู้อ่านบางท่านอาจจะบอกว่า ตัวท่านเองและผู้บริหารหลายท่านในปัจจุบันก็ทำงานในลักษณะนี้มากขึ้น นั้นคือแทนที่จะเข้ามาทำงานที่สำนักงาน กลับใช้เวลาอยู่กับบ้านและอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศในการเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกับที่ทำงานมากขึ้น แต่ประเด็นสำคัญก็คือมีคนที่เป็นผู้บริหารสูงสุด ซีอีโอ อยู่มากไหมที่ทำงานในลักษณะดังกล่าว? ส่วนใหญ่แล้วที่เจอการทำงานในลักษณะนี้มักจะเป็นผู้บริหารระดับรองลงมามากกว่า
ผู้บริหารที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้ชื่อ Stephen McDonnell ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้บริหารสูงสุดของบริษัทที่ขายเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์อาหารจากเนื้อสัตว์ที่ปลอดสารพิษ (Organic and Natural Meat Company) ชื่อ Applegate Farms ในสหรัฐอเมริกา โดยแนวทางในการบริหารที่สำคัญของเจ้าของกิจการท่านนี้คือ ต้องการให้บริษัทของตนเองนั้นสามารถเติบโตและอยู่รอดได้ด้วยตัวของตัวเอง โดยไม่ใช่เกิดขึ้นจากแรงขับเคลื่อนและผลักดันของเจ้าของกิจการตลอดเวลา
McDonnell จึงพยายามที่จะไปปรากฏตัวที่บริษัทให้น้อยที่สุด นั้นคือเพียงแค่หนึ่งวันต่อสัปดาห์ และได้ทำแบบนี้ติดต่อกันมา 17 ปีแล้ว ผู้อ่านลองเปรียบเทียบดูนะครับ ในหลายๆ องค์กรที่ถ้าผู้บริหารสูงสุดไม่อยู่ ก็จะมีความรู้สึกเหมือนกับขาดแรงขับเคลื่อนหรือแรงผลักดันในการทำให้เกิดความมุ่งมั่นและกระตือรือร้นในการทำงาน
ผมเคยเจอบางองค์กรด้วยซ้ำไปครับที่หยอกล้อกันเสมอว่า ถ้าวันไหนผู้บริหารสูงสุดไม่อยู่ จะต้องเอารูปขนาดเท่าตัวจริงมาตั้งไว้ที่หัวโต๊ะประชุม เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นและผลักดันในการทำงาน
ผู้อ่านอาจจะสงสัยต่อว่า ถ้าคนที่เป็นเจ้าของและซีอีโอเข้าไปที่ทำงานเพียงแค่สัปดาห์ละวันแบบนี้ บริษัทน่าจะเจ๊งไปนานแล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่นะครับ แถมมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจด้วย ตั้งแต่ช่วงที่บริษัทเพิ่งตั้งใหม่ๆ McDonnell จำกัดการปรากฏตัวที่บริษัทเพียงสัปดาห์ละวัน และได้ดำเนินตามนโยบายนี้ติดต่อกันมา 17 ปีแล้ว โดยที่บริษัทเองก็มีกำไรมาตั้งแต่ต้น ยอดรายได้ก็เพิ่มขึ้นปีละ 30% ยอดขายต่อพนักงานเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ในขณะที่ต้นทุนค่าแรงต่อสินค้าที่ขายลดลงทุกปี และในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ Applegate Farm มีวางจำหน่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของอเมริกา
ก่อนจะเข้ามาทำธุรกิจส่วนตัว McDonnell เป็นที่ปรึกษาในเรื่องของการปรับปรุงระบบและกระบวนการในการทำงานมาก่อน และสิ่งที่เขาพบจากการเป็นที่ปรึกษาก็คือ ในการวินิจฉัยและหาแนวทางแก้ปัญหาทางธุรกิจส่วนใหญ่นั้น สามารถทำได้โดยอาศัยกลุ่มบุคคลในที่ทำงาน โดยตัวผู้บริหารสูงสุดหรือซีอีโอ จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง
เขาเลยได้ข้อสรุปว่า การที่จะให้บริษัทของเขาสามารถดำเนินงานได้ราบรื่น ผู้บริหารสูงสุดจะต้องให้โอกาสพนักงานเข้าถึงข้อมูลสำคัญและใช้ในการตัดสินใจ พร้อมทั้งให้อิสระและความรับผิดชอบกับพนักงานในการตัดสินใจและปฏิบัติตามข้อมูลที่ได้รับ และในฐานะผู้บริหารสูงสุด เขาจะต้องไม่ไปเกะกะ หรือขวางทางการทำงานของพนักงาน
ผมเชื่อว่าถึงจุดนี้ผู้บริหารหลายท่านคงจะทำใจไม่ได้ที่จะหลีกทาง และไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำงานและการตัดสินใจที่สำคัญๆ ในบริษัท และเชื่ออีกว่าผู้บริหารหลายท่านมีพลังงานในการทำงานที่เหลือเฟือ มีเจตนาที่ดี และอยากจะให้งานออกมาดีที่สุด ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกับ McDonnell
แต่ข้อดีที่สำคัญของ McDonnell คือเขารู้ตัวเองว่าเป็นคนประเภทไหน ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองเข้าไปยุ่งกับการบริหารและการทำงานประจำวันมากเกินไปจนกลายเป็นลักษณะ Micromanage สิ่งที่ McDonnell ตัดสินใจทำก็คือ พยายามเข้าไปในที่ทำงานให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แต่การที่ McDonnell ทำงานที่บ้านถึงสี่วันต่อสัปดาห์จะหมายความว่า เขาไม่รู้ถึงความเคลื่อนไหวหรือการดำเนินงานของบริษัท สิ่งที่ Applegate แตกต่างจากธุรกิจขนาดกลางและย่อมในเมืองไทยก็คือ Applegate มีระบบฐานข้อมูลและข้อมูลสารสนเทศที่ทันสมัย และใช้งานอย่างจริงจัง ข้อมูลทุกอย่างที่เกิดขึ้นในแต่ละวันใน Applegate จึงไม่สามารถหลุดพ้นจากสายตาของ McDonnell ได้
นอกจาก Applegate แล้ว ผู้บริหารระดับรองลงมาของเขาอีกสองคนก็ไม่ได้เข้าไปทำงานที่บริษัทเป็นประจำ แถมคนหนึ่งย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในรัฐอื่น แต่ก็ยังสามารถเป็นผู้บริหารระดับสูงและบริหารงานของ Applegate ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้
ผู้อ่านคงสนใจว่า บริษัทนี้มีแนวทางในการบริหารหรือระบบอะไร ที่ทำให้สามารถบริหารงานในลักษณะนี้ได้ เรามาดูกันต่อในสัปดาห์หน้าครับ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *