รับมือ! ไข้หวัดนก มหันตภัยหน้าหนาว

รับมือ! ไข้หวัดนก มหันตภัยหน้าหนาว
• คุณภาพชีวิต
เน้นย้ำสุขอนามัยพื้นฐาน “สัปดาห์มือสะอาดปราศจากไข้หวัดนก”

ฤดูหนาวที่ผ่านมา…เดือนพฤศจิกายน 2550 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2551 กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่ามีผู้ป่วยจากโรคฤดูหนาว 6 โรค…รวมกันทั่วประเทศ 515,580 ราย เสียชีวิต 315 ราย โรคฤดูหนาวที่ป่วยกันมากที่สุด…อุจจาระร่วง ป่วย 442,187 ราย เสียชีวิต 31 ราย รองลงมา…ปอดบวม ป่วย 43,109 ราย เสียชีวิต 280 ราย…โรคอีสุกอีใส ป่วย 22,745 ราย เสียชีวิต 2 ราย ไข้หวัดใหญ่ ป่วย 6,754 ราย เสียชีวิต 2 ราย…โรคหัด ป่วย 1,645 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โรคสุดท้าย…หัดเยอรมัน ป่วย 128 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต

เด็กเล็ก กับผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เป็นช่วงวัยที่น่าสนใจ ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อบางอย่างสร้างได้ไม่ค่อยดี พ่อแม่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ส่วนคนแก่…โรงงานสร้างภูมิคุ้มกันปิดตัวไปแล้ว ผลิตภูมิคุ้มกันได้น้อยลง พอเจอเชื้อใหม่ๆ ก็สู้ไม่ไหว

นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า โรคไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด หัดเยอรมัน อีสุกอีใส เป็นโรคที่ติดต่อกันได้จากการไอ จาม อาจติดจากการใช้ภาชนะ สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ถ้ามีอาการไอมากขึ้น หรือมีไข้สูงนานเกิน 5 วัน ควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะเด็กเล็กหากหายใจเร็วหอบ หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม หายใจมีเสียงดัง อาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ…โรคปอดบวม

“ปอดบวม เป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ส่วนโรคอุจจาระร่วงในฤดูหนาว มักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ติดต่อโดยการดื่มน้ำ กินอาหารที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนเข้าไป หรือติดทางน้ำมูกน้ำลายผู้ป่วย”

องค์กรอนามัยโลก และยูนิเซฟ ประเมินว่า โรคปอดบวมเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ เป็นอันดับ 1 ของโลก พบว่ามีเด็กเสียชีวิตจากโรคปอดบวมสูงถึง 2 ล้านคนต่อปี…มากกว่าโรคเอดส์ มาลาเรีย และหัดรวมกัน ที่กล่าวถึงกันบ่อย… “โรคไอพีดี” โรคติดเชื้อชนิดรุนแรง ในกระแสเลือด หรือที่เยื่อหุ้มสมอง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ทำให้เด็กเล็กมีความพิการ หรือเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ที่สำคัญ ไอพีดีเป็นโรคที่ยากต่อการระบุสาเหตุ หรือเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ เพราะลักษณะ อาการในระยะแรกจะคล้ายไข้หวัดทั่วไป

โรคฤดูหนาวอีกโรคที่น่ากังวล…โรคไข้หวัดนก สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสไข้หวัดนกครั้งใหม่ ยืนยันจากผลตรวจเป็นทางการ ห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ…ซากไก่พื้นเมือง ที่เก็บมาจากบ้านนายนิคม พุ่มเทศ ชาวบ้าน อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย มีเชื้อไข้หวัดนกชนิด H5N1 ชัดเจนว่า เมื่อย่างเข้าฤดูหนาว โรคไข้หวัดนกได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นและประจำฤดูกาล

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค ศึกษาวิธีการป้องกันที่ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมมือกัน โครงการง่ายๆที่ทำกันมา 8 ปีแล้ว “สัปดาห์มือสะอาดปราศจากไข้หวัดนก” มุ่งเน้นให้นักเรียน ประชาชนทั่วไป รู้จักการล้างมือให้สะอาดถูกสุขลักษณะ 7 ขั้นตอน การรักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน มีประโยชน์ในการป้องกันไข้หวัดนก และโรคติดต่อชนิดต่างๆ หากยังจำกันได้…วิธีล้างมือสะอาด 7 ขั้นตอน เริ่มจากใช้ฝ่ามือถูกัน, ฝ่ามือถูหลังมือและซอกนิ้วมือ, ใช้ฝ่ามือถูฝ่ามือ และนิ้วถูซอกนิ้ว, หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ, ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ, ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ, ถูรอบข้อมือ ย้ำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ ไข้หวัดนก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่ของสัตว์ปีก เกิดจากเชื้อไวรัสหลากหลายสายพันธุ์

ผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อโดยตรง โดยการจับต้องสัตว์ปีกที่ป่วยหรือซากสัตว์ เชื้อจะติดมากับมือขณะชำแหละซากสัตว์ ฝังซากสัตว์ด้วยมือเปล่า อุ้มสัตว์ป่วย ดูดเสลดไก่ชน เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายคนทางเยื่อบุของจมูก ตา ปาก ผู้ป่วยบางรายได้รับเชื้อทางอ้อม สัมผัสพื้นดิน แหล่งน้ำที่มีสัตว์ปีกป่วยตาย รวมทั้งมูลสัตว์ปีก ผู้ป่วยบางรายในเวียดนาม ติดเชื้อจากการรับประทานเป็ด เลือด เครื่องในเป็ดปรุงสุกๆดิบๆ…แต่ไม่พบการติดเชื้อจากการรับประทานสัตว์ปีก ไข่ที่ปรุงสุก

ขณะนี้ พบเฉพาะไก่และเป็ดเท่านั้นที่แพร่เชื้อมาสู่คน มีเพียงรายเดียว ติดเชื้อจากห่านป่า แม้ว่ามีสัตว์ปีกหลายชนิด ทั้งไก่ เป็ด ห่าน นก รวมทั้งสัตว์อื่นๆ อย่าง…แมว เสือจะติดเชื้อ มีอาการป่วยรุนแรงจากไวรัสไข้หวัดนก แต่เชื้อยังไม่กลายพันธุ์ ไม่สามารถแพร่จากคนสู่คนได้

กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลถึงอาการป่วยและการปฏิบัติตัวผู้ป่วยไข้หวัดนกอีกว่า ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 3-4 วัน…อาจนานถึง 8 วัน ซึ่งนานกว่าไข้หวัดใหญ่ อาการแรกเริ่มมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก และพบอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย รวมถึงพบอาการหายใจขัด หอบเนื่องจากปอดอักเสบได้บ่อยกว่าไข้หวัดใหญ่ ตามด้วยการหายใจล้มเหลวอย่างรวดเร็ว ถึงขั้นเสียชีวิตได้

การรักษา หลังเริ่มมีไข้ ผู้ป่วยต้องได้รับยาต้านไวรัสภายใน 48 ชั่วโมง…ผลการรักษาจึงจะดี และห้ามกินยาแอสไพรินเด็ดขาด การป้องกันโรคไข้หวัดนกเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ สำหรับฟาร์มสัตว์ปีก ต้องป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่เข้าฟาร์มอย่างเคร่งครัด เช่น เลี้ยงในระบบปิด ในโรงเรือนที่กันนกได้ ป้องกันสัตว์ปีกที่เลี้ยงไว้ไม่ให้สัมผัสกับสัตว์นำโรค โดยเฉพาะนกธรรมชาติ เลี้ยงในเล้า…กรงที่มีหลังคา ในบริเวณล้อมรั้ว…ขึงตาข่ายกันนก

หากพบสัตว์ปีกที่เลี้ยง ป่วย หงอย ซึม ขนยุ่ง หน้า หงอน หรือเหนียงบวมคล้ำ มีปื้นเลือดออกตามหน้าแข้ง เดินโซเซ ชัก ท้องเสีย หรือตายผิดสังเกต ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อควบคุมการระบาด โดยเจ้าของจะได้รับค่าชดเชยซากสัตว์

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *