ภาษี : การลดหย่อนภาษีฉบับ’รากบุญ’

ภาษี : การลดหย่อนภาษีฉบับ’รากบุญ’

ถามน้องๆ ที่ทำงานว่า มีใครได้ดูละครเรื่อง “รากบุญ” ที่เพิ่งอวสานไปบ้าง บางคนบอกว่า ดูบ้าง แต่ไม่ได้ติดอกติดใจเหมือนกับ “แรงเงา” ที่ต้องเฝ้าหน้าจอรอดูการห้ำหั่นกันระหว่าง “นพนภา” กับ “มุนินทร์” (และมุตตา) ขณะที่บางคนบอกว่า หนูดูตลอด หนูชอบดู พอมีคนชอบดูและดูตลอด ก็เลยถามต่อว่า คิดว่า ประเด็นสำคัญของละคร “รากบุญ” ที่นำแสดงโดย “มาร์กี้” ราศรี บาเล็นซิเอก้า และ “ไมค์” พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล นั้นต้องการนำเสนอในเรื่องไหน

น้องคนสวยแฟนคลับ “รากบุญ” บอกว่า สิ่งที่ละครเรื่องนี้ต้องการสื่อสารอยู่ที่ ‘ถ้าคิดจะทำ “ความดี” ก็ไม่จำเป็นต้องหวังผลตอบแทน’

สำหรับคนที่เคยชมละครเรื่องนี้มาแล้ว คงพอจะนึกออก แต่สำหรับคนที่ไม่เคยชม ขออนุญาตสรุปสั้นๆ เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาของละครว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “กล่องรากบุญ” ซึ่งเป็นกล่องที่พญามัจจุราชสร้างขึ้น โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้ครอบครองกล่องประพฤติปฏิบัติดี ช่วยเหลือผู้อื่น โดยสามารถขออะไรก็ได้จากกล่องเป็นสิ่งตอบแทนการทำความดี

พญามัจจุราช ใช้ “ผลตอบแทน” เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ครอบครองกล่องอยากทำความดี เพราะไม่อยากเห็นมนุษย์ล้นนรก ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ครอบครองกล่องแต่ละคนก็ทำแบบนั้น ทำแบบที่พญามัจจุราชต้องการ และสุดท้าย “ผลตอบแทน” ที่เป็นเหยื่อล่อให้มนุษย์ทำความดีก็หลอมรวมกลายเป็น “กิเลส” หรือความอยากได้ อยากมี ที่มีอำนาจเหนือกว่าความมุ่งมั่นตั้งใจจะคิดดีและทำดีจนกระทั่งกล่องรากบุญตกมาอยู่ในความครอบครองของ “เจติยา” ที่นำแสดงโดยมาร์กี้ หญิงสาวที่มุ่งมั่นกับความเชื่อที่ว่า ถ้าจะทำดี ไม่จำเป็นต้องหวังผลตอบแทน และท้าทายพญามัจจุราชว่า ได้สร้างกล่องรากบุญ ด้วยความเชื่อผิดๆ

กล่องรากบุญจะไม่เกี่ยวข้องกับ “วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน” เลย หากไม่บังเอิญเห็นว่า ใกล้สิ้นปีแบบนี้ ใครๆ ต่างก็พากันพูดถึงเรื่องของการลดหย่อนภาษี และทุกคนดูเหมือนจะหาช่องลดภาษีภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่มีใครอยากให้เงินที่หาได้จากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองหมดไปกับภาษี ที่พูดได้ไม่เต็มปากว่า ถูกนำไปใช้กับการพัฒนาประเทศชาติครบทุกบาททุกสตางค์ที่เกี่ยวก็เพราะสรรพากรกระตุ้นให้ผู้มีเงินได้อยากทำ “ความดี” โดยมีผลตอบแทนเป็น “สิทธิลดหย่อนภาษี” เป็นเหยื่อล่อ

ไล่เรียงตั้งแต่รายการ “ลูกกตัญญู” ที่เลี้ยงดูพ่อแม่ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้คนละไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี สามารถนำค่าอุปการะเลี้ยงดูมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้คนละ 3 หมื่นบาท ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง หรือหากเป็นลูกบุญธรรมก็ต้องเป็นบุตรบุญธรรมที่มีการจดทะเบียนรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วเท่านั้น ซึ่งในกรณีที่พ่อแม่มีลูกหลายคน ลูกจะใช้สิทธิลดหย่อนได้แค่คนเดียวเท่านั้น ห้ามใช้สิทธิลดหย่อนซ้ำกัน ดังนั้น ตอนที่ใช้สิทธิก็จะต้องมีหลักฐานรับรองการอุปการะเลี้ยงดู และต้องระบุบัตรประจำตัวประชาชนของพ่อแม่ที่นำไปใช้สิทธิในแบบแสดงรายการภาษีด้วย

ส่วนลูกกตัญญูที่พ่อแม่ยังไม่เข้าวัยเกษียณและมีเงินได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทในปีภาษีนั้นๆ แม้ไม่เข้าเกณฑ์หักลดหย่อนได้ แต่ก็สามารถซื้อ “ประกันลูกกตัญญู” ซึ่งเป็นประกันสุขภาพคุ้มครองพ่อแม่ในเวลาเจ็บป่วย โดยสามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้ โดยลดหย่อนได้ตามจริง แต่รวมเบี้ยประกันของพ่อและแม่แล้วต้องไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

แต่กรณีของประกันลูกกตัญญูนั้น ลูกหลายคนสามารถร่วมกันทำประกันให้กับพ่อหรือแม่ได้ โดยเฉลี่ยเบี้ยประกันไปตามส่วนของผู้มีเงินได้ ตามที่จ่ายเบี้ยไปจริง แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทเช่นกัน

จบจากเรื่องลูกที่ดี ก็เป็นเรื่องของ “คนใจดี” ที่อุปการะเลี้ยงดูผู้พิการที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทในปีภาษี ไม่ว่าผู้พิการคนนั้นจะเป็นพ่อแม่ของเรา พ่อแม่ของคู่สมรส คู่สมรส ลูก หรือแม้แต่คนที่ไม่ใช่ญาติพี่น้อง ก็สามารถหักค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้คนละ 6 หมื่นบาท แต่ผู้พิการนั้นจะต้องมีบัตรประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และมีชื่อของผู้ที่มีสิทธิลดหย่อนภาษีเป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัว

ส่วนที่ฮอตและฮิตมากๆ ต้องยกให้รายการ “เงินบริจาค” ให้แก่สาธารณกุศล ถ้าสนับสนุนการกีฬา สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เท่ากับจำนวนที่จ่ายจริง แต่ถ้าเป็นบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาสามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว

โดยเงินบริจาคเพื่อการศึกษาที่เข้าเงื่อนไขหักลดหย่อนได้ 2 เท่า จะครอบคลุมกรณี 1.เงินบริจาคเพื่อจัดหาหรือจัดสร้างอาคาร พร้อมที่ดินหรือที่ดินให้แก่สถานศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา 2.เงินบริจาคเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือวิชาการ สื่อหรือเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และ 3.เงินบริจาคในการจัดหาครู อาจารย์หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา การประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัย สำหรับนักเรียน นิสิตหรือนักศึกษาของสถานศึกษา
นอกจากนี้ ยังมีเงินบริจาคให้แก่มูลนิธิที่ได้รับการรับรอง เงินบริจาคให้แก่วัด ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

ดูๆ ไปแล้ว เหมือนสรรพากรเป็นพญามัจจุราช ที่สร้างกล่องรากบุญ ตามประมวลรัษฎากร ปล่อยให้กิเลส คือ สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี เป็นเหยื่อล่อให้ผู้ครอบครองกล่อง คือ ผู้มีเงินได้พยายามทำความดี ทั้งดูแลพ่อแม่ (ซึ่งดูแลจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ บางบ้านพี่น้องแทบจะทะเลาะกัน เพราะแย่งกันเอาค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ไปลดหย่อนภาษี ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วต่างก็ไม่เคยดูดำดูดี) ทั้งดูแลคนพิการ รวมถึงเงินบริจาค ที่บางคนใช้วิธีซื้อใบบริจาคจากมูลนิธิ จากวัด จากสถานศึกษา

เห็นแล้วนึกถึง “เจติยา” ในรากบุญ ที่บอกว่า ตราบเท่าที่มนุษย์เอาความอยากได้ อยากมีเป็นที่ตั้ง ไม่ได้ใช้ความดีเป็นที่ตั้ง ก็เหมือนกับสะสมกิเลสให้พอกพูน ลองคิดกลับข้าง ให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี เป็นแค่ผลพลอยได้ จากความตั้งใจทำดี ดูแลพ่อแม่ จากการอุปการะผู้พิการหรือจากการบริจาค

สิ่งตามมา ย่อมได้มากกว่าแค่ถูกกฎหมายและถูกต้องในสิทธิที่พึงมีพึงได้เท่านั้น

………………………………….

(ลดภาษีฉบับ’รากบุญ’ : คอลัมน์วันอาทิตย์คิดเรื่องเงิน : โดย…ขวัญชนก วุฒิกุล k_wuttikul@hotmail.com)

ที่มา : คมชัดลึก

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *