ฝึกพูด..เรียกเสียงหัวเราะ

ฝึกพูด..เรียกเสียงหัวเราะ

วันที่ : 27 ธันวาคม 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : งานวันนี้

การดึงดูดผู้ฟังด้วยเสียงหัวเราะ นอกจากจะเพิ่มเสน่ห์ดึงดูดผู้ฟัง ช่วยให้เป้าหมายการพูดของเราบรรลุผลสำเร็จง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ “ตัวเรา” ประทับอยู่ในความทรงจำของผู้ฟัง ทำให้เขาปรารถนาที่จะฟังเราพูดในเรื่องอื่น ๆ ในครั้งต่อ ๆ ไปอีก

ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้ที่จะแทรกเรื่องตลกในบทพูด และควรฝึกฝนวิธีการพูดให้คนหัวเราะ ซึ่งแน่นอนว่า อาจเป็นเรื่องยาก หากเราไม่ได้เป็นคนที่มีอารมณ์ขันโดยนิสัย แต่ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปหากเราพยายามฝึกฝนให้บ่อยครั้งมากขึ้น

เราจะพูดอย่างไรให้คนฟังขำ…หัวเราะ และรู้สึกดีกับสิ่งที่เราพูด?

…คำแนะนำที่สามารถลองไปฝึกดู ได้แก่

เลือกเรื่องที่เหมาะสม… การเตรียมความพร้อมก่อนพูดเป็นเรื่องสำคัญ การเตรียมเรื่องตลกเช่นกัน สิ่งสำคัญคือ เราต้องเลือกเรื่องที่เหมาะสมกับผู้ฟัง เกี่ยวข้องกับผู้ฟัง ฟังแล้วเข้าใจทันที อาจเป็นความแปลกแตกต่าง / จุดเด่นขององค์กรที่แตกต่างจากที่อื่น ๆ เป็นเรื่องตลก ๆ ที่รู้กันโดยทั่วไป และเรื่องที่เล่าควรเชื่อมโยงกับเรื่องที่จะพูดถึง อันจะช่วยให้การเล่าเรื่องของเราต่อเนื่อง
จำไว้ว่า การเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง หลายครั้งนั้นดีกว่าการยกเรื่องเล่าของคนอื่น เพราะเรื่องของเรานั้นจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ฟังเสมอ แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานเพียงใด ถ้าผู้ฟังยังไม่เคยได้ยินจากปากเรา ดังนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่น่าสนุก เข้ากับเรื่องที่เรากำลังสื่อสาร รวมทั้งเราสามารถเล่าเรื่องนั้นได้อย่างสนุกสนาน คนฟังเห็นภาพ มีอารมณ์คล้อยตาม เรื่องเล่าของเราย่อมเป็นเครื่องดึงดูดผู้ฟังได้เป็นอย่างดี

เล่าอย่างรู้จังหวะจะโคน คำแนะนำในการเล่าเรื่องให้ตลก ประการแรก ในตอนเริ่มต้นเล่าเรื่อง เราต้องเล่าด้วยสีหน้าปกติ เหมือนพูดไปเรื่อย ๆ ต้องระวังอย่าหัวเราะหรือขำก่อนข้อความตลกจะถูกกล่าวออกมา เพราะนั่นเท่ากับเป็นการทำลายจุดดึงดูดที่สุดของเรื่องลง เช่นเดียวกับเวลาเราดูหนัง หากคนที่นั่งข้าง ๆ เล่าให้ฟังถึงตอนที่ตื่นเต้นที่สุด (climax) ของเรื่อง เมื่อหนังฉายมาถึงตอนนั้น ความรู้สึกตื่นเต้นของเราย่อมหมดลง และจะรู้สึกไม่สนุกเท่าที่ควรจะเป็น
คำแนะนำประการที่สอง ก่อนการปล่อยหมัดเด็ดออกมาให้คนขำ นั่นคือ การหยุด 1-2 วินาที ก่อนแล้วค่อยปล่อยหมัดเด็ดออกมา และการใช้คำพูดที่หักมุม ดังตัวอย่างคำพูดของ แอดไล สตีเวนสัน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ได้กล่าวถึงเมื่อครั้งก่อน เขาใช้จังหวะหยุดเพื่อดึงความสนใจของผู้ฟังก่อน ปล่อยหมัดเด็ด โดยกล่าวว่า “ท่านประธานที่เคารพ ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเยือนท่านและได้พบกับท่านผู้ฟังทุกท่านในที่นี่ ซึ่งล้วนแต่เป็นมิตรสหายของผม – (หยุด 1-2 วินาที) – และไม่มีผู้สนับสนุนผมเลย” จากนั้นตามมาด้วยเสียงหัวเราะของผู้ฟังดังก้องห้องประชุม
คำแนะนำอีกประการหนึ่ง คือ เราจะต้องพูดในสิ่งที่คนไม่คาดคิดมาก่อน เพราะจะทำให้คนฟังเกิดความรู้สึกแปลกใจ และขบขันที่เรากล่าวออกมา หากใครเคยได้ชมภาพยนตร์เรื่อง An Inconvenient truth คงจำได้ในตอนที่ อัลกอร์ ไปบรรยายเรื่องภาวะโลกร้อนให้องค์กรแห่งหนึ่งฟัง เขาได้กล่าวแนะนำตัว โดยพูดในสิ่งที่ผู้ฟังไม่เคยคิดมาก่อนว่าเขาจะพูดเช่นนี้ “ผมคือ อัล กอร์ – –
– ผมเคยที่จะได้ (แต่ไม่ได้) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐอเมริกา” เมื่อเขากล่าวจบ คนฟังหัวเราะและปรบมือด้วยความชื่นชอบ เพราะไม่คิดว่า อัล กอร์ จะกล่าวแนะนำตัวเองเช่นนี้

ข้อแนะนำประการสำคัญที่ขาดไม่ได้ นั่นคือ การที่เราต้องเรียนรู้วิธีการพูด จากนักพูดทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่น โดยเฉพาะเรียนรู้จากผู้พูดที่มีอารมณ์ขัน สามารถเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังได้ง่าย ๆ โดยเรียนรู้ว่า เขามีวิธีเลือกเรื่องพูดอย่างไร มีวิธีการเล่าเรื่องอย่างไร เหตุใดเขาจึงทำให้คนฟังหัวเราะได้ และจากนั้นให้เราลองพยายามทำตามดูบ้าง แต่อย่าลืมว่าเราต้อง “เรียนรู้” แต่ห้าม “เลียนแบบ” เพื่อคงเอกลักษณ์ของตนเองไว้ให้มากที่สุด

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *