ฝึกทีมงานใช้เสรีภาพอย่างมีเหตุผล

ฝึกทีมงานใช้เสรีภาพอย่างมีเหตุผล
 
วันที่ : 28 มิถุนายน 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : งานอัพเกรด
 
            “เสรีภาพที่มากขึ้นทำให้เราแสดงทัศนะต่อเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง มุมหนึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยให้เกิดความหลากหลายทางความคิด แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นผลร้ายเพราะจะทำให้คนกล้าแสดงทัศนะ ในเรื่องที่ตนแทบจะไม่รู้รายละเอียดเลย”
 
            ข้อความข้างต้น ผมได้กล่าวไว้ในบทหนึ่งของหนังสือ การคิดเชิงวิพากษ์ ชี้ให้เห็นถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เมื่อปัจเจกมีเสรีภาพในการแสดงทัศนะต่อเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะในมุมของผลร้าย นั่นคือ การแสดงทัศนะในเรื่องที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้

           
ในการทำงานเช่นกัน เมื่อเราเปิดโอกาสให้ทีมงานแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม หลายครั้ง แทนที่จะได้ข้อสรุปที่มีเหตุผล กลับกลายเป็นการโต้แย้ง โต้เถียง หรือไม่ได้ข้อสรุปที่น่าพึงพอใจ  
 แบบฝึกหัดที่สำคัญยิ่ง นั่นคือ การฝึกหัดให้ทีมงานเรียนรู้ที่จะคิดแบบนักคิดเชิงวิพากษ์ ด้วยการปรับทัศนคติและลักษณะนิสัยการคิดเพื่อให้สามารถแสดงทัศนะ วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และองค์กรได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ อาทิ
 
          
ฝึกวิพากษ์ความคิดตนเอง

           
การวิพากษ์ความคิดเห็นของตนเอง จะช่วยลดอคติหรือการเอาตนเองเป็นศูนย์กลาง ส่งผลให้เราสามารถวินิจฉัยสิ่งนั้นได้อย่างถูกต้องตรงกับความเป็นจริง โดยฝึกตั้งคำถามกับตัวเองว่า ….สิ่งที่เราคิดถูกต้องจริงหรือ …เหตุใดเราจึงคิดเช่นนั้น …สิ่งที่เราคิดมีผลดีผลเสียอย่างไร …สิ่งที่เราคิด ดีกว่าสิ่งที่คนอื่นคิดอย่างไร ฯลฯ เพื่อทบทวนความคิดของตนเองอีกครั้ง

           
ฝึกเปิดใจกว้าง

           
นักคิดเชิงวิพากษ์ต้องเป็นผู้ที่มีใจเปิดกว้าง เผื่อใจไว้เสมอว่าสิ่งที่ตนคิดอาจจะไม่ถูกต้อง ไม่สมเหตุสมผล เปิดใจเผื่อไว้ในสิ่งที่ตนไม่รู้ สิ่งที่คนอื่นอาจไม่รู้ สิ่งที่ยังไม่ค้นพบ ใจที่เปิดกว้างนั้น รวมความถึง ใจที่เที่ยงธรรม เป็นกลาง ไม่มีอคติ เราควรเปิดใจให้กว้างที่สุด โดยเชื่อว่าสิ่งใดที่เป็นจริง ย่อมมีเหตุผลรองรับและพิสูจน์ได้มากเพียงพอที่จะบอกว่าสิ่งนั้นจริง
เราต้องไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลางในการวินิจฉัยให้เหตุผลแก่สิ่งต่าง ๆ แต่ควรเปิดความคิดให้กว้างในการรับความคิดจากผู้อื่น โดยตระหนักว่า ความใจกว้างของเราจะช่วยขยายมุมมองทำให้เราเห็นมุมมองที่สดใหม่ สามารถพิจารณาเรื่องนั้นได้อย่างทะลุทะลวงมากขึ้น

           
ฝึกชะลอการตัดสินใจ ไม่ด่วนสรุป

           
คนจำนวนมากไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่ตนแสดงทัศนะนั้น แต่เชื่อตามคำบอกเล่าของสื่อ การตีความจากความรู้ที่มีอยู่ อคติที่มีอยู่ในใจ ทัศนะที่แสดงออกจึงมักจะไม่ถูกต้องสมเหตุสมผล แต่นักคิดเชิงวิพากษ์จะต่อต้านการแสร้งรู้ หรือการแสดงทัศนะในเรื่องที่ตนไม่มีความรู้ในรายละเอียด เราต้องฉลาดที่จะพูดว่า …“ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ฉันต้องการทราบข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้” เมื่อได้รับข้อมูล ก็จะนำมาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ พินิจพิจารณาด้วยความรอบคอบ คิดทุกแง่มุม เปรียบเทียบผลดี-ผลเสีย ผลระยะสั้น-ระยะยาว ผลต่อส่วนตัว-ส่วนรวม

           
ฝึกความมั่นคงในจิตใจ

           
เราต้องเป็นคนที่มีความมั่นคงในจิตใจไม่ถูกล่อลวงง่าย ๆ ด้วยการยื่นข้อเสนอหรือจูงใจให้ทำเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง แต่ต้องมีความมั่นคงในจิตใจเสมอ พยายามคิดในเหตุผลของสาระที่ได้รับว่ามีความน่าเชื่อมากน้อยเพียงใด สมเหตุสมผลหรือไม่ทั้งในระยะสั้นระยะยาว จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงหรือคล้อยตาม จิตใจที่ไม่คล้อยตามใครง่าย ๆ จะช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เพราะมีสติรู้สึกตัวอยู่เสมอ

           
ฝึกหาความรู้เพื่อตอบข้อสงสัย

           
เราต้องเป็นผู้รักความรู้ ชอบค้นคว้า ขวนขวานหาความรู้อยู่เสมอ มีลักษณะเป็นนักเรียนตลอดชีวิต ต้องเป็นคนที่ช่างสังเกต ต้องมีข้อสงสัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ ไม่เชื่อหรือคล้อยตามสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างง่าย ๆ ต้องเป็นนักตั้งคำถามที่ดี อันนำไปสู่ การพยายามค้นหาคำตอบต่อข้อสงสัย เช่น หาในหนังสืออ้างอิง ถามผู้รู้ คิดใคร่ครวญหาคำตอบ พิจารณาบริบทที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูลและคิดอย่างเป็นระบบ  และยินดีใช้เวลาคิดทบทวนเรื่องนั้นอย่างรอบคอบ เป็นต้น

           
ฝึกรับรู้ข้อมูลที่หลากหลาย

           
โดยธรรมชาติการรับรู้ของเรา เรามักเลือกรับรู้ในขอบเขตเกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่เราสนใจ ซึ่งการเลือกรับรู้ไม่ใช่เรื่องผิดและไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อย่างไรก็ตามลักษณะนิสัยการคิดเช่นนี้เป็นอุปสรรคปิดกั้นการคิดเชิงวิพากษ์ได้ เพราะทำให้เราเลือกรับรู้เฉพาะข้อมูลที่เราสนใจ โดยทิ้งข้อมูลอื่น ๆ ไป แทนที่จะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดอย่างครบถ้วนและยุติธรรม นิสัยการคิดเช่นนี้ทำให้เกิดอคติและลำเอียงในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างง่าย เพราะจะเลือกหยิบเพียงหลักฐานที่สนับสนุนสิ่งที่ตนสนใจเท่านั้น

           
เราจึงควรเปิดกว้างในการรับรู้ ไม่เลือกรับข้อมูลเพียงบางด้าน แต่ต้องรับข้อมูลด้านที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน เพื่อให้การรับรู้ของเรามีความสมดุลทั้งสองด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาและรับฟังรายละเอียดในด้านที่ยังไม่เคยเห็นรับรู้มาก่อน ด้านตรงข้ามกับข้อสมมติที่เราคิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น ด้านที่เรารู้สึกว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น 
 

           
ฝึกความยุติธรรม

           
เราควรเปิดใจกว้างรับข้อมูลและพิจารณาตัดสินใจในประเด็นนั้นอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ขึ้นกับจำนวนคนที่อยู่ข้างเดียวกับเราหรือตรงข้ามกับเรา เพราะสิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ และสิ่งที่คนส่วนน้อยเชื่อถืออาจถูกต้องหรือไม่ถูกต้องได้เช่นกัน ที่สำคัญต้องระวังการคิดแบบสองขั้วตรงข้าม หรือการเลือกรับเฉพาะเรื่องที่อยู่ด้านใดด้านหนึ่งของสิ่งที่มีลักษณะตรงกันข้าม ในลักษณะที่ว่า ถ้ามีสิ่งนี้ ต้องไม่มีสิ่งนั้น, ถ้าเป็นเช่นนี้ ต้องไม่เป็นเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น

           
นอกจากนี้ ข้อควรจำคือ แม้ว่าเสียงส่วนใหญ่จะมี ‘พลังมาก’ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะ ‘ถูกต้องมาก’ ด้วย สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าใช่ ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่ก็ได้ ต้องพิจารณาหลักฐานและเหตุผลที่นำมากล่าวอ้าง และแม้ว่าเราจะ ‘เห็นใจ’ คนส่วนน้อย แต่เราไม่จำเป็นต้อง ‘เห็นด้วย’ เพราะความคิดเห็นของคนส่วนน้อยอาจไม่ถูกต้อง ต้องพิจารณาหลักฐานและเหตุผลที่นำมากล่าวอ้าง

           
ฝึกยอมรับความจริง อย่าทำเป็นแสร้งรู้ 

           
คนบางคนเชื่อว่าการสารภาพว่าตนไม่รู้เรื่องจะทำให้ตนเองดูไร้ประสิทธิภาพ และไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม จึงแสร้งทำเป็นว่าตนรู้เรื่องนั้น เพื่อรักษาหน้า ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่รู้ นิสัยการคิดเช่นนี้จะกลายเป็นความคุ้นเคยที่ทำให้เราเชื่อว่ามันเป็นความจริง อันจะทำให้เราสับสนระหว่างการคาดเดาของเรากับความรู้จริงในตำรา ดังนั้น เราควรฝึกยอมรับในเรื่องที่เราไม่มีความรู้ เมื่อเราไม่รู้ควรบอกว่าไม่รู้ และไม่จำเป็นต้องแสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนั้น เราควรยอมรับความจริง ไม่โกหกตนเองหรือผู้อื่นอีก
 
            การคิดเชิงวิพากษ์จะช่วยให้เราเป็นคนที่ใช้เสรีภาพได้อย่างมีหลัก ยึดโยงกับเหตุและผลมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก   ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานของทีมงานให้ก้าวหน้าได้มากขึ้น
 
 
 

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *