บริหารคนบนปีแห่งความท้าทาย

บริหารคนบนปีแห่งความท้าทาย
Post Today – วิกฤตการเงินสหรัฐที่ส่งผลลุกลามและนำมาซึ่งความเสียหายทั่วโลก กระทั่งเอเชียที่แม้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าภูมิภาคอื่น …
แต่เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดภาวะชะลอตัว ภาคการส่งออกซึ่งเดิมเป็นช่องทางการสร้างรายได้หลักของไทยก็ไม่รอดพ้น เค้าลางแห่งหายนะก่อตัวขึ้นชัดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปลายปี 2551 จากยอดการสั่งซื้อสินค้าที่ชะลอตัวลง และการปลดคนงานในหลายระลอกของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

คำถามสำหรับทุกคนก็คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้รอดพ้น การบริหารคนบนปีแห่งความท้าทายที่ยิ่งกว่าท้าทาย

Outside In

ดร.ดนัย เทียนพุฒ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอ็นที คอนซัลแตนท์ ที่ปรึกษางานด้านวิสัยทัศน์องค์กร กล่าวว่า ในปีนี้ผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์จะปรากฏเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกจะได้รับผลกระทบจากภาวะกำลังซื้อหดตัว โอกาสหนี้สูญก็ค่อนข้างสูง ภายใต้เงื่อนไขของภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้าย สิ่งแรกที่ผู้บริหารต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกคือการปรับบิซิเนสโมเดล ปรับธุรกิจใหม่ภายใต้เงื่อนไขเชิงกลยุทธ์

“เศรษฐกิจไม่ดี ก็ต้องปรับตัว แต่แทนที่จะมองแบบ Inside Out ผู้บริหารที่ฉลาดต้องมองแบบ Outside In หรือต้องมองจากข้างนอกเข้ามาข้างใน” ดร.ดนัย กล่าว อย่ามองจากข้างในออกไปข้างนอก เห็นคำสั่งซื้อลดก็ปลดคนงาน ซึ่งในแง่ของเอชอาร์แล้วถือเป็นความสูญเปล่าทางทรัพยากรบุคคล มองจากข้างนอกเข้ามาข้างในดีกว่า คือดูว่าภายใต้เงื่อนไขปัจจัยต่างๆ องค์กรปรับเปลี่ยนหรือทำอะไรได้บ้าง

การปรับธุรกิจเชิงโครงสร้าง เพื่อตอบโจทย์ว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ชีพจรธุรกิจสอดคล้องกับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจให้มากที่สุด การเปลี่ยนแปลงของอนาคตขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและลักษณะจำเพาะของแต่ละธุรกิจเป็นสำคัญ เช่น อาจจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ว่า จะทำการค้ากับกลุ่มลูกค้าใหม่ หรือกลุ่มลูกค้าเดิมแต่ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างไร ทั้งนี้ ต้องปรับเชิงกลยุทธ์หรือ Sweet Spot ใช้จุดเด่นความสามารถพิเศษที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าและคู่แข่งไม่สามารถเสนอได้

บริหารทุนมนุษย์เชิงกลยุทธ์

ดร.ดนัย กล่าวว่า การปรับใหม่ทางธุรกิจ ในมิติหนึ่งย่อมหมายถึงการปรับตัวของบุคลากรในองค์กรทั้งหมด ภายใต้ข้อจำกัดของวิกฤตการเงินโลก การบริหารองค์กรคือการบริหารเอชอาร์หรือบุคลากรมนุษย์ให้เกิดมูลค่าสูงสุด โดยปัจจุบันวิธีวิทยาการบริหารคน (Methodology) ด้านเอชอาร์ ซึ่งปรับเปลี่ยนหลักการและแนวคิดในตัวของมันเองไปมาก มีการขับเคลื่อนมาจาก 2 ส่วนหลัก

1.การพลิกโฉมการบริหารคนไปสู่การบริหารทุนมนุษย์ (Human Capital Management)

2.การปรับหรือออกแบบงานบริหารเอชอาร์ ที่ขึ้นกับความสามารถของคน (Human Competence)

“การปรับใหม่องค์กร แน่นอนว่าขึ้นอยู่กับความสามารถของคนหรือทาเลนต์ แมนเนจเมนต์ การสร้างคนอัจฉริยะในองค์กร ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ผู้บริหารต้องมองให้ออกก็คือการพัฒนาคนเก่ง การทดแทนคนเก่ง และการสร้างภาวะผู้นำ” ดร.ดนัย เล่า ส่วนอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารทุนมนุษย์ ก็คือการสร้างทุนทางปัญญา ดีกรีของคนในองค์กรหรือพนักงานแต่ละคนนั้น สูงต่ำขึ้นอยู่กับทุนทางปัญญาของแต่ละคน

Talent People

ใครคือคนที่มีความสามารถพิเศษในธุรกิจของคุณ หากคุณเป็นผู้บริหาร ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ เพราะธุรกิจนับจากนี้ไปจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการคนที่มีความพิเศษ (Talent People Management) ที่จะทำให้เกิดทุนทางปัญญา โดยการบริหารงานบุคคลหรือการบริหารเอชอาร์เวอร์ชันเก่าต้องอัพเกรดใหม่เพื่อให้การค้นหาคนพันธุ์เอหรือทาเลนต์ พีเพิล เกิดเป็นกระบวนการที่ชัดเจนสมบูรณ์

การบริหารคนเป็นความท้าทายต่อการเติบโตทางธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้นคือกระบวนการจัดการสินทรัพย์ทางปัญญา หรือทุนทางปัญญา (Intellectual Capital Management) บริหารจัดการผลงานหรือความรู้ใหม่ๆ ของคนที่มีความสามารถพิเศษ (Talent People) ซึ่งจะเป็น 4 ขั้นตอนดังนี้

1.สรรหา

2.พัฒนา

3.รักษา

4.ใช้ประโยชน์

ดร.ดนัย กล่าวว่า การพิจารณาคนที่มีความสามารถพิเศษขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทธุรกิจ อย่างไรก็ตาม จะมีลักษณะร่วมกันอยู่คือ 1.ความเก่ง หรือไอคิว ทาเลนต์หรือพรสวรรค์ที่มีติดตัว 2.ความสามารถ คนที่เป็นแหล่งรวมของความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และคุณลักษณะส่วนบุคคลที่ทำให้งานมีประสิทธิภาพ และ 3.สมรรถภาพ คือเทคโนโลยี นวัตกรรม ความรู้ใหม่หรือความสามารถพิเศษอื่นที่พัฒนาขึ้น ข้อสำคัญคือความสามารถพิเศษที่ทำให้ธุรกิจหรือองค์กร ยกระดับความเก่งกาจได้เหนือคู่แข่ง

คิด-ทำ-เรียนรู้ในระดับโลก

โลกของธุรกิจคือโลกของการบริหาร (People Management) ปีเตอร์ ดรักเกอร์ นักบริหารระดับโลกตอบว่าอย่างนั้น ก้าวใหม่ที่เป็นจุดเริ่มต้นคือวิสัยทัศน์ของการแข่งขัน 5 ประการต่อไปนี้

1.พลวัตระดับโลก (Global Dynamics) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในด้านมาตรฐาน (Standard) ลูกค้า (Custom) และปัญญา (Intelligence) อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

2.การลดกฎระเบียบ (Deregulation) โลกในศตวรรษ 21 เป็นโลกของการค้าเสรี หรือระดับความเสรีใหม่ที่จะมีผลกระทบต่อโอกาสของคนที่มีทุน เทคโนโลยีและนวัตกรรม

3.เศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economics) เทคโนโลยีด้านดิจิตอลได้ก้าวเข้ามาทดแทนทุกๆ สิ่ง ทำให้เกิดการตายของเวลา สถานที่ และวิธีการ หมายความว่า อะไรที่ไม่เคยเป็นไปได้ในโลกธุรกิจกายภาพ จะเป็นไปได้หมดในโลกธุรกิจดิจิตอล

4.วิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ต (Internet Evolution) ภายใต้เศรษฐกิจดิจิตอล อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือผลักทางเศรษฐกิจ หรือ “มือที่มองไม่เห็น” ตามแนวคิดของ อดัม สมิธ ที่จะทำให้กลไกตลาดเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดสรรทรัพยากร สมดุลของผลประโยชน์ โลกของ Desktop เป็นโลกของไมโครซอฟท์ แต่โลกของ Web Based เป็นโลกของกูเกิล

5.การรวมเข้ามา (Convergence) จะเป็นสิ่งใหม่ของการเชื่อมโยงและรูปแบบที่เกิดขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ของการแข่งขันใหม่

ทั้งหมดนี้ คือความท้าทายใหม่ คือกฎใหม่ เกมใหม่ ว่าธุรกิจจะปรับวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น ให้เกิดเป็นความได้เปรียบทางธุรกิจอย่างไร

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *