‘ธุรกิจใหม่ไอเดียดี’ จะไปรอดหรือไม่

“ธุรกิจใหม่ไอเดียดี” จะไปรอดหรือไม่
ไอเดียธุรกิจแจ๋วๆ อาจเกิดขึ้นได้อย่างฉับพลันทันที หรือไม่ก็อาจเป็นผลมาจากการครุ่นคิด ติดตาม ค้นคว้า มาช่วงระยะเวลาหนึ่งก็เป็นได้

สำหรับเถ้าแก่มือเก่าที่มีความฉมังในสมรภูมิธุรกิจ การสเกตช์ภาพคร่าวๆ ของไอเดียที่แวบขึ้นมาลงบนกระดาษเช็ดปากในร้านอาหาร ก็อาจกลับกลายมาเป็นธุรกิจเงินล้านได้โดยไม่ยากนัก

แต่สำหรับเถ้าแก่ใหม่แล้ว จะทราบได้อย่างไรว่าไอเดียที่เกิดขึ้น เมื่อนำมาทำเป็นธุรกิจจริงๆ แล้ว จะไปรอดหรือไม่?

วิธีการที่จะตรวจสอบไอเดียธุรกิจว่าจะไปรอดหรือไม่ สามารถทำได้โดยเทคนิคที่เรียกว่า “การวิเคราะห์ตลาด”

การเริ่มต้นธุรกิจจากไอเดียหรือความคิดทันที โดยไม่ผ่านขั้นตอน “การวิเคราะห์ตลาด” กลายเป็นกับดักหรือหลุมพรางทำให้เถ้าแก่ใหม่หลายต่อหลายรายไปได้ถึงดวงดาว หรือต้องใช้เงินทุนจำนวนไม่น้อย ทุ่มไปไม่ถูกจุด

และมารู้ภายหลังว่า เป็นการทำให้ต้นทุนการสร้างธุรกิจเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

การ “วิเคราะห์ตลาด” จะทำให้เถ้าแก่ใหม่ ทราบได้เบื้องต้นว่า ไอเดียธุรกิจของตน มีศักยภาพและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในตลาดได้มากน้อยแค่ไหนโดยไม่จำเป็นต้องเสี่ยงทุ่มทุนลงไปเป็นจำนวนมากในทันที

ถ้าไปไม่รอด ก็จะได้ถอยมาตั้งหลักใหม่ได้ทัน

ถ้าศักยภาพดี ก็จะได้เริ่มลงมือลุยได้ด้วยความมั่นใจ

บางครั้งก็ต้องนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ มาปรับปรุง ตกแต่ง หรือ ต่อยอดไอเดียออกไป เพื่อให้เหมาะสมกับตลาดได้ดียิ่งขึ้นหลายๆ รอบ

พูดง่ายๆ แล้ว “การวิเคราะห์ตลาด” ก็คือ การนำไอเดียธุรกิจของเรา กลับมามองดูในรายละเอียดต่างๆ รวม 4 แง่มุม คือ

1. สินค้าหรือบริการ

2. ลูกค้า

3. คู่แข่ง

4. คู่ค้า พันธมิตร การสนับสนุนและความช่วยเหลือ

สำหรับเถ้าแก่เอสเอ็มอีที่ต้องการทำการ “วิเคราะห์ตลาด” ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ ลองใช้วิธีตอบคำถามต่างๆ ด้วยตัวเองตามหัวข้อต่างๆ ต่อไปนี้ดู

สินค้าหรือบริการ

คำถาม คำตอบ

จุดเด่นหรือลักษณะใดของสินค้า (หรือบริการ) ที่จะชูให้เป็นจุดขาย

ลูกค้าจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้างเมื่อใช้สินค้า (หรือบริการ) ของเรา

เรากล้ารับประกันสินค้าของเราระดับไหน (เช่น ใช้ไม่ดียอมให้คืนเงิน, ฯลฯ)

หีบห่อ กล่อง ภาชนะบรรจุ จะมีลักษณะเช่นไร

จะตั้งราคาขายเท่าไร

จะขายอย่างไร (ขายสด, ขายเชื่อ, ขายตรงตามบ้าน, สั่งซื้อทางไปรษณีย์, ขายส่ง, ขายปลีก, ฯลฯ) พยายามอธิบายรายละเอียดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะคิดได้

ภาพลักษณ์ของสินค้า (หรือบริการ) หรือ ตัวบริษัท ที่เราต้องการสื่อความหมายไปยังตลาดเป็นอย่างไร (เช่น ราคาถูก, ของหรู, คุณภาพเยี่ยมราคาแพง, ของดีราคาถูก, ฯลฯ)

อื่นๆ

ลูกค้า

คำถาม คำตอบ

มุ่งไปที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายใดเป็นพิเศษ (เช่น กลุ่มวัยรุ่น, กลุ่มวัยทำงาน, กลุ่มแม่บ้าน, กลุ่มนักท่องเที่ยว หรือ กลุ่มหมู่บ้านละแวกใกล้เคียง, กลุ่มต่างจังหวัด, เฉพาะในจังหวัด, ส่งออกอย่างเดียว หรือ กลุ่มเกษตรกร, กลุ่มสาวออฟฟิศ, กลุ่มนักกอล์ฟ ฯลฯ) ระบุให้ชัดเจนให้มากที่สุด

ใครเป็นผู้ตัดสินใจ “เลือก” สินค้าที่จะซื้อ ใครเป็นผู้ที่ “ไปซื้อ” ใครเป็นผู้ “ใช้” (เช่น ผ้าอ้อมเด็ก ผู้ตัดสินใจคือแม่ ผู้ไปซื้อคือพี่เลี้ยง ผู้ใช้คือเด็ก)

จะส่งสัญญาณหรือข่าวสารให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายทราบได้อย่างไรว่ามีสินค้าของเราให้บริการแล้ว

ลูกค้าจะหาซื้อสินค้าหรือบริการของเราได้ที่ไหน

คาดว่าจะมีผู้ซื้อสินค้าของเรากี่ชิ้น ต่อเดือน/ต่อปี

อื่นๆ

คู่แข่ง

คำถาม คำตอบ

คู่แข่งมีกี่ราย เป็นใครบ้าง

คู่แข่งแต่ละรายมียอดขายประมาณเท่าใดบ้าง

ผู้บริหารของคู่แข่งแต่ละรายมีใครบ้าง เป็นมืออาชีพ หรือ เจ้าของทำเอง

จุดแข็งจุดอ่อนของคู่แข่งแต่ละรายเป็นอย่างไร

เปรียบเทียบสินค้าของเรากับคู่แข่งแต่ละรายมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกันอย่างไรบ้าง

คู่แข่งแต่ละรายใช้กลยุทธ์การตลาดเช่นใดบ้าง เอกสารประกอบการขาย เช่น แผ่นพับ แค็ตตาล็อก โปสเตอร์ ชิ้นงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ ฯลฯ

คู่แข่งรับสินค้ามาจากไหน หรือ ใช้วัตถุดิบจากแหล่งใด

คู่แข่งแต่ละรายใครมีแนวโน้มที่จะขยายตัว หรือ กำลังมีปัญหา

ใครเป็นผู้นำตลาดในด้านต่างๆ เช่น ยอดขาย, คุณภาพ, ภาพลักษณ์, การใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์, ฯลฯ

อื่นๆ

คู่ค้า พันธมิตร การสนับสนุนและความช่วยเหลือ

คำถาม คำตอบ

มีธุรกิจใดหรือไม่ที่จะเสริมกับธุรกิจของเรา หรือ ธุรกิจของเราอาจเข้าไปอิงได้

มีหน่วยงานราชการใดพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเราได้หรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีที่ธุรกิจเราอาจมีปัญหา

มีกลุ่มธุรกิจ ชมรม หรือสมาคมใดบ้างที่จะมีประโยชน์ต่อธุรกิจของเรา

สามารถใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราได้หรือไม่

อื่นๆ

ตารางเหล่านี้ เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ที่จะทำให้เถ้าแก่ใหม่สามารถใช้ “วิเคราะห์ตลาด” เพื่อหาดูศักยภาพของไอเดียธุรกิจของเราว่า พอที่จะเกิดในตลาดได้หรือไม่

ในแต่ละหัวข้อ สามารถเพิ่มเติมข้อมูลที่เป็นข้อมูลเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ท่านสนใจเพิ่มเข้าไปได้ไม่จำกัด เพราะหากมีการวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ผลการวิเคราะห์ของท่านก็จะแม่นยำมากขึ้น

และจะตอบคำถามให้ท่านได้ทราบว่า ไอเดียธุรกิจของท่านจะไปรอดได้หรือไม่

โดยทั่วไปแล้ว หากมีใครมาวิจารณ์หรือชี้ให้เห็นว่าไอเดียของเรามีจุดโหว่อย่างไร เรามักจะเกิดอาการเถียงกลับและไม่ยอมรับ ทำให้เกิดความละเลยที่จะแก้ไขปรับปรุง

สู้มองหาจุดโหว่ด้วยตัวเองไม่ได้ ซึ่งจะทำให้มองเห็นปัญหาต่างๆ ได้เด่นชัดล่วงหน้า

ไม่ตกหลุมพรางไปด้วยความไม่รอบคอบ

สำหรับท่านผู้อ่านที่อยากจะได้ตัวอย่างตารางการวิเคราะห์และไม่อยากจะแอบตัดคอลัมน์นี้เก็บไว้สำหรับฝึกแววเถ้าแก่ของตัวเอง ก็ขอมาได้ที่ทีมงานที่ bizweek@nationgroup.com ได้เลยครับ

บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *