ถึงเวลาต้อง “บริหารอารมณ์” ให้เด็กไทย


ถึงเวลาต้อง “บริหารอารมณ์” ให้เด็กไทย
It’s high time we helped Thai children handle their emotions

มาของภาพ http://www.computermedicinc.net/BabyFinal/animat/BabyWeights.GIF
 
 
                เมื่อ 30 เม.ย. พ.ศ.2551 นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงการประมาณการจำนวนฆ่าตัวตายสำเร็จปี 2551 เผยแพร่โดยศูนย์สารสนเทศ กองแผนงานกรมสุขภาพจิตว่า ผลจากการรวบรวมจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจากใบมรณะบัตรของกระทรวงมหาดไทย ในช่วงเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2550 พบว่าประชาชนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,458 คน ในจำนวนนี้เป็นชาย 2,703 คน และเป็นหญิง 755 คน อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวอีกว่า สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายอีกโรคหนึ่งคือ โรคซึมเศร้า พบว่าคนไทยมีอัตราความชุกประมาณร้อยละ 4.76% ของประชากร หรือประมาณ 3 ล้านคน กรมสุขภาพจิตประมาณว่า ในปี 2551 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าสูงถึง 3,002,789 คน ขณะที่มีผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าและได้รับการรักษาเพียง 130,341 คน
 
                สาเหตุในการเกิดโรคซึมเศร้ามีหลายประการ ซึ่ง นพ.ปราการ ธมยางกูร นายแพทย์ระดับ 8 กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลราชวิถี จิตแพทย์ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษาผู้พยายามฆ่าตัวตาย กล่าวว่า ในทางจิตเวชผู้พยายามฆ่าตัวตาย หรือผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ พยายามจะสื่อสารอะไรบางอย่างเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่มักไม่ปรึกษาใคร จึงทำให้รู้สึกสิ้นหวัง เห็นตัวเองไร้ค่า และนำไปสู่การฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ ร้อยละ 60-80 ผู้ที่ฆ่าตัวตายมักมีโรคซึมเศร้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจเกิดจากความกดดันภายนอก ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างในตัวผู้ป่วย ทำให้ความคิดเห็น หรือมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ของผู้ป่วยเปลี่ยนไป และไม่สามารถห้ามความเศร้าโศกได้ หากผู้ป่วยได้ระบายความกดดันที่อยู่ในใจจะช่วยลดความซึมเศร้า และหยุดการฆ่าตัวตายได้
 
            อย่างไรก็ตาม      สภาพความเครียดของผู้คน ได้แผ่ขยายไปในแทบทุกส่วนของโลก โดยในหลายประเทศต่างตระหนักถึงปัญหาสภาพความเครียดของคนในสังคมของตนเอง ว่ามีระดับความเครียดที่สูงขึ้น ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ ต่างหาแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาความเครียดในประชากรของตนเอง ด้วยการให้ความสำคัญโดย“เน้นการพัฒนาและบริหารอารมณ์ให้ตั้งแต่วัยเด็ก ดังตัวอย่างจากประเทศสหราชอาณาจักร เยอรมัน และจีน ดังนี้
 
                พัฒนา วิชาสร้างความสุข” ในประเทศสหราชอาณาจักร โดยรัฐบาลได้ว่าจ้างนักจิตวิทยาชื่อดัง ดร.มาร์ติน เซลิกแมน (Martin E.P. Seligman) จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เข้ามาร่างหลักสูตรและถ่ายทอดให้แก่คณะครู เพื่อนำไปสอนในโรงเรียนนำร่อง โดยใช้ชื่อวิชาว่า “วิชาสร้างสุข” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กลดความทุกข์ ลดพฤติกรรมต่อต้านสังคม และสร้างความมั่นใจในตัวเอง เนื้อหาในวิชาเป็นการนำเทคนิคด้านพฤติกรรมบำบัด และการเรียนรู้บทบาทตน เพื่อสอนให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง สร้างความมั่นใจในตัวเอง และการรับมือกับความคิดแง่ลบ ตลอดจนการฝึกให้ผู้เรียนควบคุมตนเองในสถานการณ์ที่เลวร้ายผ่านการฝึกลมหายใจ
 
                พัฒนา หลักสูตรหาความสุขจากสิ่งรอบตัว” ในประเทศเยอรมนีที่ผ่านมา ระบบการศึกษาในเยอรมันเน้นวิชาการ และโรงเรียนส่วนใหญ่มักไม่ส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวของผู้เรียน ดังนั้น ผู้เรียนส่วนใหญ่จึงมีเหงาและสับสน ซึ่งโรงเรียนไม่สามารถเป็นที่พึ่งทางใจแก่ผู้เรียนได้ แต่เมื่อปี พ.ศ.2550 โรงเรียนวิลลี เฮลล์ปัช ประเทศเยอรมัน เป็นโรงเรียนแรกที่นำร่องหลักสูตรความสุข เรียนควบคู่ไปกับวิชาคณิตศาสตร์และภาษาศาสตร์ โดยกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้เรียนอายุ 17-19 ปี ที่เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยกิจกรรมที่จัดขึ้น ได้แก่ ให้ผู้เรียนนั่งล้อมลง หลับตา นับ 1-10 ทีละคน โดยใช้สติในการฟัง เพื่อหาโอกาสตะโกนนับตัวเลข และให้พูดสิ่งดีที่เพื่อนร่วมชั้นมี สิ่งดีที่ตนเองมี เพื่อให้เด็กรู้จักเคารพตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ ใน หลักสูตรได้สอนวิธีการหาความสุขจากสิ่งรอบตัว”
 
                พัฒนา ห้องบริหารอารมณ์” ในประเทศจีน เป็นตัวอย่างประเทศที่พยายามพัฒนาตนเองจากประเทศกำลังพัฒนา ไปสู่ประเทศที่พัฒนาอย่างเต็มตัว จึงเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจ ที่สำคัญ คนในประเทศต่างเร่งพัฒนาคุณภาพตนเอง โดยเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ไม่เพียงต้องเครียดกับการเรียน ยังต้องเผชิญปัญหาแรงงานล้นตลาดเมื่อสำเร็จการศึกษา ดังนั้น มหาวิทยาลัยบางแห่งในประเทศจีนจึงริเริ่มจัด ห้องสำหรับผ่อนคลายความเครียด” โดยเฉพาะที่เรียกว่า “ห้องบริหารอารมณ์” ให้นักศึกษาปลดปล่อยความรู้สึกด้านลบ เช่น การชกกระสอบทรายระบายความโกรธ ความเครียดจากการเรียน เป็นต้น
 
                หากย้อนมาที่ประเทศไทยพบว่า มีหลายหน่วยงานพยายามหาแนวทางบรรเทาปัญหาความเครียดและการฆ่าตัวตายของเยาวชนหลายแนวทาง เช่น กรมสุขภาพจิตตั้งศูนย์บำบัดพฤติกรรมวัยรุ่น กรุงเทพฯ เปิดคลินิกกู้ใจ รับปรึกษาปัญหาวัยรุ่น การเรียน และอื่น ๆ เป็นต้น
 
                แนวทางดำเนินการ จำเป็นที่หน่วยงานต่าง ๆ ต้องตระหนักภัยเงียบนี้ และดำเนินการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ โดยสถาบันที่มีความใกล้ชิดกับเยาวชนที่สุดคือ สถาบันการศึกษาและสถาบันครอบครัว ควรมีบทบาทมากที่สุด ในการแก้ไปปัญหาความเครียดและการฆ่าตัวตายของเยาวชน โดยมุ่งพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้เด็กและเยาวชน มีความสามารถที่จะรู้จักอารมณ์ของตนเอง เรียนรู้ที่จะลดความเครียดและผ่อนคลายอารมณ์ลง สามารถหาความสุขใส่ตัวได้จากสิ่งรอบข้าง มีความสามารถและทักษะการคิดในการแก้ไขและเผชิญปัญหาต่าง ๆ ได้ เรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมถึงการมีส่วนร่วมในการดูแลคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อนและคนในครอบครัว เพื่อลดและผ่อนคลายความตึงเครียดซึ่งกันและกัน
 
* นำมาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน คอลัมภ์ศึกษาทัศน์ ฉบับวันพุธที่ 9 กรกฎาคม 2551

แสดงความคิดเห็น

 
วันที่ : 11 กรกฎาคม 2551

 


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *