ตื่นมาหน้าหนักๆ หลับตาไม่สนิท ลิ้นชา เสี่ยงโรคหน้าเบี้ยว

ตื่นมาหน้าหนักๆ หลับตาไม่สนิท ลิ้นชา เสี่ยงโรคหน้าเบี้ยว
• คุณภาพชีวิต
แพทย์ระบุรักษาได้แต่อาจไม่หายขาด

โรค Bell palsy เป็นอาการหน้าเบี้ยวที่เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่เจ็ด (Facial nerve) อับเสบหรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเส้นประสาทสมองคู่ที่เจ็ดดังกล่าวออกจากก้านสมองผ่านใต้กะโหลกศีรษะ มาโผ่ลที่หน้าหูแล้วแยกเป็นสองแขนงทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าด้านเดียวกันแขนงบนช่วยในการหลับตา แขนงล่างช่วยดึงกล้ามเนื้อมุมปาก เช่น การยิ้มการห่อปาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแขนงย่อยๆ ไปเลี้ยงที่เยื้อแก้วหู และรับรสที่ลิ้นด้วย

เหตุที่เรียกว่า Bell palsy ก็เพราะ ได้ชื่อตามนายแพทย์ Charles Bell ศัลยแพทย์ชาวสกอตเป็นผู้บรรยายอาการของโรคนี้ไว้เป็นท่านแรกตั้งแต่ศตวรรษที่ 19

อาการของโรค Bell palsy ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเร็วใน 1-2 วัน ตื่นมารู้สึกหน้าหนักๆ หลับตาไม่สนิท ตาแห้งทานน้ำมีน้ำไหลจากมุมปาก บางรายมีลิ้นชาหรือหูอื้อร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เร็วเพราะมีคนทักและกลัวเป็นอัมพาต ซึ่งอาการของสมองขาดเลือด (อัมพฤกษ์-อัมพาต) จะแยกได้โดยมักจะมีอาการทางระบบประสาทอื่นร่วมด้วย ได้แก่ แขนขาอุ่นแรงข้างเดียวกับที่มีปากเบี้ยว ตาเห็นภาพซ้อน เดินเซหรือมีอาการบ้านหมุน เป็นต้น

สาเหตุเกิดจากอะไร จะติดต่อกันได้หรือไม่?

พบว่าอาการหน้าเบี้ยวเกิดขณะที่เส้นประสาทมีการอักเสบ บวม หรือถูกกดทับ ในคนที่ปกติแข็งแรงดีมาก่อน เชื่อว่าน่าจะมีการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเริม ไวรัสไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ยังพบบ่อยในสตรีตั้งครรภ์, ผู้ป่วยเบาหวาน, มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือต่อมน้ำเหลือง, ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV และกลุ่มผู้ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง

ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคหน้าเบี้ยว

ดูจากประวัติและอาการเป็นหลัก และการตรวจร่างกายโดยแพทย์ทางระบบประสาทโดยตรง ในบางราอาจจำเป็นต้องตรวจเลือด หรือเอกซเรย์ทางสมองเพิ่มเติม

วิธีการรักษาในปัจจุบันมีอะไรบ้าง

อย่างแรกต้องทราบก่อนว่าอาการ Bell palsy ในแต่ละรายไม่เท่ากัน สาเหตุหรือการบวมอักเสบของเส้นประสาทก็ต่างกัน ในบางรายที่มีอาการน้อย อาจไม่ต้องทำอะไรก็หายเองได้ใน 2 สัปดาห์การศึกษาปัจจุบันพบว่ายากลุ่มสเตียรอยด์ (steroid) ช่วยลดการบวมและอักเสบของเส้นประสาท ทำให้หายเร็วขึ้น โดยให้ในวันแรกๆ ที่เริ่มมีอาการเนื่องจากยาต้องให้ในขนาดสูง จึงมักพบผลข้างเคียงได้ เช่นนอนไม่หลับ, แสบท้องจากกรดในกระเพาะเพิ่มขึ้น, หิวบ่อยหรือน้ำหนักตัวเพิ่ม นอกจากนี้ยังอาจทำให้บวมชั่วคราวและน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากในรายที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วส่วนยาในกลุ่มต้านไวรัสเริม จากผลการทดลองล่าสุดใน New England journal medicine (November 13, 2007) แสดงให้เห็นว่ายาในกลุ่มต้านไวรัสเริมไม่ได้ประโยชน์ในผู้ป่วยโรคนี้ได้

เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถหลับตาได้สนิทหรือกะพริบตาน้อยลง ทำให้กระจกตาแห้ง สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคนี้ คือ ป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบหรือแผลที่กระจกตา ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้โดยการปิดตาและให้หยอดน้ำตาเทียม ส่วนการทำกายภาพโดยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้น หรือการแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม ก็มีรายงานว่าช่วยในบางราย

ใช้เวลาในการรักษานานแค่ไหน

ส่วนใหญ่จะดีขึ้นมากใน 2 สัปดาห์แรก และประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะหายสนิท และส่วนที่เหลืออาการจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 3-6 เดือน แต่ในรายที่เส้นประสาทมีปัญหาอยู่เดิม เช่น เบาหวาน หรือเกิดจากเชื้องูสวัด มักจะไม่หายสนิท โอกาสที่เป็นซ้ำอีกพบน้อยมาก ถ้าเกิดเป็นซ้ำหลายครั้ง แพทย์จะหาสาเหตุเพิ่มเติม.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *