คุยกับ ‘นิ้วกลม’ เรื่องอาจารย์ในร้านคุกกี้

คุยกับ ‘นิ้วกลม’ เรื่องอาจารย์ในร้านคุกกี้

รายงานโดย :อินทรชัย พาณิชกุล: วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552
นาทีนี้คงไม่มีนักอ่านคนใดไม่รู้จัก “นิ้วกลม”
นามปากกาของชายหนุ่มชื่อ เอ๋-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักคิด-นักเขียนอารมณ์ดีผู้มองโลกด้วยสายตาอันรื่นเริง เจ้าของผลงานพ็อกเกตบุ๊กขายดีกว่า 15 เล่มที่วางกระจัดกระจายอยู่บนชั้นในร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ ซึ่งเขาใช้นิ้วกลมๆ ทั้งสิบนิ้วสรรค์สร้างมันขึ้นภายในระยะเวลาเพียงแค่ 6 ปีเท่านั้น
เหตุผลที่ทำให้ใครสักคนลงมือเขียนหนังสือออกมาได้มากถึงขนาดนั้นภายในช่วงเวลาสั้นๆ เขาบอกว่าคงเป็นเรื่องของความรักเท่านั้น เป็นความรักสุดจิตสุดใจที่มีต่อการอ่านและการเขียน
“กว่าจะมาเป็นนักเขียนได้ในวันนี้ แรงบันดาลใจจริงๆ ผมว่ามันมาจาก 2 ส่วน หนึ่ง การอ่าน ผมบ้าอ่านหนังสือ เริ่มจริงๆ จังๆ ก็สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จำได้ว่าเริ่มจากเรื่องจินตนาการไม่รู้จบ นวนิยายแฟนตาซีของ มิชาเอล เอนเด้ อ่านจบแล้วรู้สึกชอบมาก ต่อมาลามไปอ่านงานวรรณกรรมเยาวชน เรื่องสั้น จนได้มาเข้าห้องสมุดก็อ่านหลายประเภท อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า จนกลายมาเป็นหนอนหนังสือเต็มตัว” เขายิ้มกว้างทั้งใบหน้าขณะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียน
“พออ่านเยอะก็เริ่มเรียบเรียงความคิดของตัวเองเป็น โดยหยิบยกความคิดของคนอื่นมาผสมผสาน จนเกิดอาการคันไม้คันมือ เลยลงมือเขียนมันออกมา เขียนมาเรื่อยจนกลายเป็นความเคยชินเหมือนเราแปรงฟันก่อนนอนทุกคืนอะไรแบบนั้น หรือไม่ก็เหมือนการขี้ คือมันมวนๆ อยู่ในท้อง ถ้าไม่ระบายออกมาแล้วอึดอัด (หัวเราะลั่น) ก็เลยติดนิสัยขี้ความคิดออกมาทุกคืน”
นิ้วกลม ย้อนเล่ากลับไปในช่วงประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว ว่า การเขียนหนังสือของเขาเริ่มต้นพร้อมๆ กับช่วงที่วงการหนังสือคึกคักมาก ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นมาของนิตยสารคนรุ่นใหม่อย่างอะเดย์ โอเพ่น หรือแม้แต่การได้รับรางวัลซีไรต์และความนิยมอย่างสูงในตัวของนักเขียนหนุ่มรุ่นใหม่นาม ปราบดา หยุ่น
“ตอนนั้นหนังสือพี่คุ่นแกดังมาก” เขาหยุดนิดนึง เปลี่ยนอิริยาบถมาเป็นนั่งไขว่ห้างสบายๆ “แต่ก่อนเราเคยรู้สึกว่านักเขียนต้องเป็นผู้ใหญ่จ๋าๆ มีความคิดลึกซึ้ง แต่พอมาเห็นนักเขียนรุ่นหนุ่มๆ ทำผลงานออกมาได้ดี มีชีวิตชีวา ก็เหมือนเป็นแรงบันดาลใจให้เขียนหนังสือ รู้สึกว่าการเขียนหนังสือมันไม่ไกลตัวเรา ทำให้เราสนใจการอ่าน และทำให้รู้สึกว่าการเขียนเป็นเรื่องสนุก”
“นักเขียนที่มีอิทธิพลต่อเรามากๆ เลยคือ วินทร์ เลียววาริณ เขาเป็นคนที่เปิดกรอบการเขียนออกไปว่าเราสามารถดีไซน์การเขียนได้ อีกคนคือ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผมชอบอ่านหนังสือเขามาก ทุกวันนี้ยังชอบและไม่เคยผิดหวัง ชอบความลึกซึ้งของวิธีการมองสิ่งต่างๆ ของเขา มีปรัชญาข้อคิดสอดแทรกตลอด สำนวนภาษาก็แสดงความเป็นลูกผู้ชายและสละสลวยไปพร้อมๆ กัน คนต่อมาคือ พี่จิก-ประภาส ชลศรานนท์ ที่ให้แรงบันดาลใจเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ และพี่คุ่น-ปราบดา หยุ่น ก็ได้รับอิทธิพลมาในเรื่องของการเล่นของภาษา”
แม้เราเดินตามคนที่เป็นต้นแบบเราได้ แต่วันหนึ่งเราก็ต้องมีรอยเท้าของตัวเอง…
ด้วยความเอาจริงเอาจัง วันหนึ่งหนังสือทำมือที่สราวุธทำร่วมกับเพื่อนๆ ในชื่อ DIM (Do It Myself) ตกไปถึงมือของ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารอะเดย์ ซึ่งสนอกสนใจในลีลาและอารมณ์ขันของเขา ก่อนในที่สุดจะมีผลงานเป็นพ็อกเกตบุ๊กออกมา โดยใช้ชื่อคนเขียนว่า “นิ้วกลม” อาทิ “โตเกียวไม่มีขา” “กัมพูชาพริบตาเดียว” “เนปาลประมาณสะดือ” “สมองไหวในฮ่องกง” “นั่งรถไฟไปตู้เย็น” ฯลฯ ที่มีคนติดตามอ่านไม่น้อย โดยที่ยังทำงานประจำเป็นผู้กำกับโฆษณาอยู่
กลางวันคิดงานให้คนอื่น ตกกลางคืนค่อยคิดงานของตัวเอง—เขาบอกไว้อย่างนั้น
ความคิดสร้างสรรค์ ความอารมณ์ดี การมองโลกในแง่บวก สิ่งเหล่านี้เองที่ถือเป็นจุดเด่นสำคัญอีกอย่างของตัวนักเขียนคนนี้ นอกเหนือไปจากอารมณ์ขันซึ่งเป็นเสน่ห์อันน่าหลงใหลยามที่คนอ่านได้สัมผัสจากผลงานของนิ้วกลม
“เพิ่งอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง มีประโยคนึงคมมาก เมื่อใดที่คุณเริ่มคิดบวก นั่นหมายถึงคุณกำลังอยู่ในสถานการณ์ลบ คือคนปกติไม่ได้คิดบวกตลอด แต่พอคนเราเริ่มเจอเรื่องลบๆ เราก็จะคิดแล้วว่าจะทำยังไงให้บวกได้ เหตุที่ผมเป็นคนคิดบวก อาจเป็นเพราะว่าผมผ่านสถานการณ์ที่เป็นลบที่สุดในชีวิตมาแล้ว พูดแล้วตลก มันเป็นเรื่องของการอกหัก (หัวเราะ) หลังจากนั้นเราก็อยากอ่านหนังสือที่ทำให้เราเข้าใจในความสุข นั่นก็คือหนังสือของท่านพุทธทาส ซึ่งการอ่านหนังสือของท่านในจังหวะนั้น ในช่วงทุกข์มากๆ มันเปลี่ยนชีวิตเราไปเลย ทำให้เราพยายามมองโลกด้วยความเข้าใจมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะงานเขียน แต่รวมถึงการดำเนินชีวิตด้วย ก็พยายามมองทุกอย่างด้วยความเข้าใจ สิ่งที่เราเข้าใจมันไม่ได้ก็ยอมรับมันไป เพราะการที่เราคิดแบบนี้ มันจะทำให้เราดำเนินชีวิตไปอย่างสงบสุข
สำหรับวิธีการเขียน ผมเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับรูปแบบค่อนข้างมาก คิดเยอะเรื่องกลวิธีการนำเสนอ เพราะคิดว่าเนื้อหาโดยแก่นหลักแท้จริงแล้วมันไม่เปลี่ยนไปกว่ากันเท่าไหร่ ยกเว้นเรื่องข้อมูล เพราะข้อมูลของโลกใหม่ตลอดเวลา ทีนี้ถ้าเราเลือกเล่าเรื่องเดิมๆ ด้วยวิธีเดิมๆ มันก็ง่ายมากที่คนจะเบื่อ ไม่อยากอ่าน อีกอย่างตัวคนเขียนเองมันก็ได้สนุกกับการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ ด้วย แทนที่จะคิดแต่เรื่องเนื้อหา”
มาถึงผลงานล่าสุด “อาจารย์ในร้านคุกกี้” จากสำนักพิมพ์มติชน หนังสือรวบรวม 39 เคล็ดวิชาแห่งความสุข และแรงบันดาลใจที่เรียนรู้จากคน สัตว์ และสิ่งของต่างๆ ที่มีอยู่รายรอบตัว เป็นอีกเล่มที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้อ่านถล่มทลาย
“หนังสือเล่มนี้รวบรวมข้อเขียนจากคอลัมน์ ‘ขุนพลอาจารย์บาน’ ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ขณะนี้ ผมดีใจมากและรู้สึกเป็นเกียรติมากครับที่ได้รับการชักชวนมาเขียนที่นี่ ตอนแรกก็คิดหนักว่าจะเขียนอะไรดี เกร็งไปหมด ก็เลยคิดในเรื่องที่เราสนใจมากที่สุดนั่นก็คือข้อคิดและแรงบันดาลใจ จากนั้นมาคิดต่อว่าจะเขียนเนื้อหายังไงให้มันกว้างที่สุด จนมาสรุปที่ข้อคิดจากสิ่งต่างๆ รอบตัวเราไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ เอาทุกอย่างเลย ทุกอย่างมันจะเป็นอาจารย์เราได้หมด
สำหรับชื่อคอลัมน์ ‘ขุนพลอาจารย์บาน’ มีที่มาจากคนเราก็เหมือนขุนพลที่ต้องออกไปรบรากับปัญหาและสิ่งต่างๆ ที่ไม่เข้าใจมากมายในแต่ละวัน ซึ่งจะพบเจอได้เยอะมากในชีวิต ขณะที่เรารบกับปัญหา ปัญหาเหล่านั้นมันก็เป็นครูเราได้เหมือนกัน และสิ่งที่เราไม่เข้าใจต่างๆ เราสามารถเรียนรู้มันได้ทุกวัน เพื่อที่จะทำความเข้าใจมันได้มากขึ้นเรื่อยๆ ข้อคิดแรงบันดาลใจมันมีอยู่เยอะแยะมากมายรอบตัวเรา อยู่ที่เราจะฟังมันหรือเปล่า เห็นมันหรือเปล่า และคิดต่อยอดจากมันหรือเปล่าเท่านั้นเอง”
ยกตัวอย่าง “เหล่าอาจารย์” ที่นิ้วกลมได้พบเจอและเรียนรู้มา เช่น หูฟังไอพอด เข็มกับไม้จิ้มฟัน สก๊อตช์ไบรต์ โฆษณารถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง รองเท้ากีฬา นักว่ายน้ำเหรียญทองโอลิมปิก นักมวยผู้ไม่ยอมแพ้ แม่ของเพื่อน รวมถึงทุกคน ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุกสถานที่ ฯลฯ
“ผมอยากให้คนอ่านรู้ว่าเราสามารถได้ข้อคิดจากทุกสิ่งทุกอย่างได้จริงๆ ทุกอย่างเป็นอาจารย์เราได้หมด จะท่องจำ หรือมีสมุดจดก็บันทึกลงไป เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะไปไหนผมก็มองหาอาจารย์ในทุกที่ (หัวเราะ) ผมว่าอาจารย์ที่ซุกซ่อนตามสิ่งต่างๆ บางอย่างเขาก็บอกเราตรงๆ แต่บางอย่างเขาก็แค่สะกิดความคิดที่มันมีอยู่ในตัวเราแล้วให้มันฟุ้งขึ้นมา”
ตราบจนถึงวันนี้ แม้นิ้วกลมจะมีชื่อเสียงติดลมบน มีกลุ่มแฟนๆ ติดตามผลงานอย่างเหนียวแน่น คำถามที่ถูกถามบ่อยๆ ที่เขาได้รับมากที่สุดก็คือ เคยคิดจะยึดอาชีพเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวไหม?
“เคยคิดครับ แต่ยังไม่ต้องการถึงขนาดนั้น ผมมีความสุขมากทั้งเขียนหนังสือ ทั้งงานกำกับโฆษณา มันไม่ได้ทรมานถึงขนาดจะต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สนุกทั้งสองอย่าง ถ้ามีงานสิบอย่างแล้วเราสนุกทุกอย่าง ก็คงต้องทำทั้งหมด”
การสนทนาจบลงด้วยประโยคนั้น พร้อมกับเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *