คอเลสเตอรอลสูงเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงแข็ง

คอเลสเตอรอลสูงเสี่ยงโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
• คุณภาพชีวิต
แพทย์ชี้ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า อ้วน ถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต

หัวใจและหลอดเลือด นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก โดยจากสถิติพบว่า ทุก ๆ 2 วินาที จะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ 1 คน แต่คุณรู้หรือไม่ว่ามฤตยูร้ายตัวจริง คือโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) เพราะเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน และอัมพฤกษ์-อัมพาตอีกด้วย

การลดระดับของไขมันคอเลสเตอรอลชนิดร้าย (แอลดีแอล คอเลส เตอรอล) ให้ได้ตามเป้าหมาย จะช่วยลดการสะสมของตะกรันในผนังหลอดเลือด เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเนื่องในการที่จะลดอัตราการตายและอัตราการพิการจากโรคเหล่านี้ได้ ซึ่งปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ในด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดมีความก้าวหน้ามากกว่าสมัยก่อนมาก

ในงานประชุมทางวิชาการ “Asia Pacific Cardiovascular Summit 2008 หรือ CV Summit 2008” ได้มีการนำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดกับหลอดเลือดแดงแข็ง ตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและในอนาคต

มีการรวบรวมและสรุปข้อมูลทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการรักษาเพื่อลดระดับไขมันในเลือดและผลที่ตามมาซึ่งมีผลเกี่ยวเนื่องกับลักษณะของเส้นเลือดที่เปลี่ยนแปลง โดยพบว่าการใช้ยาบางตัวในการลดระดับไขมันในเส้นเลือดลงได้มีแนวโน้มว่าจะทำให้เส้นเลือดที่แข็งตัวกลับคืนในทางที่ดีขึ้นได้

ศ.นพ.ฟิลลิป บาร์เตอร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจจากสถาบันโรคหัวใจ ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “การมีระดับไขมันตัวร้ายหรือคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (LDL) ในเลือดสูง โอกาสที่จะก่อให้เกิดโรคหัวใจหลอดเลือดและโรคหลอดเลือดแดงแข็งก็จะสูง นอกจากนี้ยังพบว่าหากผู้มีคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (LDL) ในเลือดสูงและยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย เช่น อายุมากขึ้น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ความดันสูง อ้วนลงพุง โรคเบาหวาน ไตรกลีเซอไรด์สูง โอกาสที่จะเกิดโรคหัวใจและขาดเลือดหรือ เกิดอัมพฤกษ์อัมพาตก็จะยิ่งมีมากขึ้น และพบว่าผู้หญิงที่มีคอเลส เตอรอลชนิดแอลดีแอล (LDL) ในเลือดสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือดและโรคหลอดเลือดแดงแข็งมากกว่าผู้ชาย ดังนั้นนอกจากการที่ต้องลดระดับไขมันตัวร้ายแล้ว การลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวก็จะเป็นผลดีต่อหัวใจและหลอดเลือดด้วย”

ในงานประชุมดังกล่าว ยังได้มีการนำเสนอผลการศึกษา CEPHEUS เกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยและพฤติกรรมการรับประทานยาในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูงในผู้ป่วยจำนวนมาก โดยได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยและพฤติกรรมการรับประทานยาในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูงในผู้ป่วย 8 ประเทศของยุโรป จำนวน 15,000 คน จากประเทศเบลเยียม, ฝรั่งเศส, ฟินแลนด์, กรีซ, ไอร์แลนด์, ลักเซมเบิร์ก, เนเธอร์แลนด์ และ ตุรกี

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยจำนวน 55% สามารถควบคุมและลดระดับไขมันได้ถึงเป้าหมายตามที่แพทย์กำหนดแต่ในขณะ ที่ผู้ป่วยอีก 45% ไม่สามารถที่จะลดระดับไขมันลงได้ถึงเป้าหมายตามที่แพทย์กำหนด และผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า แพทย์ส่วนใหญ่ไม่เพิ่มขนาดยาในการรักษา จึงจำเป็น อย่างยิ่งที่ควรเริ่มต้นใช้ยาที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่เริ่มรักษา โดยพบว่าผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือในการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอจะสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดชนิด LDL ลงได้ตามเป้าหมายที่แพทย์กำหนด

นพ.เจงอุยปาร์ค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ จากประเทศเกาหลีใต้ ผู้ประสานงานโครงการการวิจัย CEPHEUS ระดับนานาชาติแห่งเอเชีย กล่าวเพิ่มว่า การควบคุมระดับคอเลสเตอรอลให้ถึงเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะพบว่าหากผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดได้มีโอกาสที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ ตามมา และผลการศึกษาทางคลินิกเป็นจำนวนมากก็ยืนยันว่าผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต โดยมากกว่า 30% ของผู้ป่วยเหล่านี้มีสาเหตุจากการมีคอเลสเตอรอลในเลือดชนิดร้าย (LDL) ที่สูง นอกจากนี้ยังพบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า จำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบมีถึง 7 ล้านคนต่อปี และกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตมี ถึง 6 ล้านคนต่อปี ซึ่งพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

พญ.อรินทยา พรหมินธิกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในคณะผู้วิจัยโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหยุดยาเอง เมื่อรับประทานยาไปแล้วระยะหนึ่งเมื่อเห็นว่าคอเลสเตอรอลเริ่มลดลง แต่ทางที่ดี ในทางการแพทย์ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการออก กำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพื่อลดและควบคุมระดับคอเลสเตอรอลให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งโครงการ Pan-Asian CEPHEUS Study จะดำเนินการวิจัยใน 9 ประเทศ คือ เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เข้าใจทัศนคติและการรักษาของแพทย์และผู้ป่วยในการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง อันจะนำไปสู่การช่วยให้คนไข้ไปถึงเป้าหมายในการควบคุมระดับไขมันในเลือด และช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดในที่สุด

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *