ความยืดหยุ่นในการลงทุน

ความยืดหยุ่นในการลงทุน

โลกในมุมมองของ Value Investor : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2550
เรื่องของการลงทุนนั้น ไม่เคยมีกฎเหล็กหรือกฎตายตัวที่แหกไม่ได้ แม้แต่ วอร์เรน บัฟเฟตต์เอง ถ้าเราศึกษาจะพบว่า กิจการหรือหุ้นส่วนใหญ่ที่เขาซื้อจะมีคุณสมบัติประเภทเป็นกิจการที่ดีเลิศ มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน และมีผู้บริหารที่ดี แต่หลายครั้งเขาก็ซื้อโภคภัณฑ์หรือกิจการที่ทำธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น การซื้อโลหะเงินเก็งกำไร การซื้อหุ้นบริษัทน้ำมันของจีน หรืออย่างเมื่อเร็วๆ นี้ เขาก็เข้าซื้อกิจการบริษัทรถไฟในสหรัฐหลายแห่ง ทั้งที่รถไฟนั้น ในภาพพจน์ก็คือ ธุรกิจตะวันตกดิน

สิ่งที่บัฟเฟตต์ทำก็คือ ทุกครั้งที่ลงทุน เขาจะมีมุมมองที่แหลมคมและมองไปข้างหน้าก่อนคนอื่นอย่างน้อย 1 ก้าวเสมอ เวลาที่เขาลงทุนในสิ่งที่ดูเหมือนจะแหกกฎนั้น ทุกครั้งจะมีประเด็นหรือเรื่องราวสำคัญของกิจการที่สามารถลบล้างกฎต่างๆ ทั้งหมด อย่างเช่น รถไฟนั้น เขาลงทุนเพราะรถไฟนั้นใช้น้ำมัน (โดยการเปรียบเทียบ) น้อยกว่ารถยนต์ถึง 3 เท่า ดังนั้น เขามองว่าราคาค่าขนส่งทางรถไฟต่อจากนี้จะถูกลงมากเมื่อเทียบกับรถบรรทุก ดังนั้น กิจการของบริษัทรถไฟจะดีขึ้นมาก และความยืดหยุ่นในการลงทุนที่ Value Investor ทุกคนควรจะมี
ความยืดหยุ่นของการลงทุนนั้น ผมคิดว่าเราควรจะใช้ต่อเมื่อมีประเด็นหรือปัจจัยบางอย่าง ที่มีอิทธิพลสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทหรือหุ้นมาก ซึ่งจะสามารถลบล้างข้อด้อยของกิจการหรือหุ้นที่เราเห็นได้ ซึ่งหมายความว่า เราจะต้องไม่ยืดหยุ่นเป็นนิจสินหรือยืดหยุ่นมากเกินไป กฎเกณฑ์หรือหลักการต่างๆ ที่เรายึดถือในการลงทุนนั้น นอกจากจะทำให้ผลงานการลงทุนของเราดีแล้ว มันยังเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยง และเป็นเกราะป้องกันอันตรายให้เราด้วย ดังนั้น การแหกกฎควรจะต้องได้รับการชดเชยด้วยปัจจัยที่ดีและน่าสนใจเพียงพอ

ตัวอย่างที่อาจจะเจอได้มากก็ เช่น เรามีกฎว่าจะลงทุนเฉพาะในบริษัทที่ผู้บริหารมีบรรษัทภิบาลที่ดี แต่ในบางครั้งเราอาจจะพบหุ้นของบริษัทที่มีผู้บริหาร “สีเทา” ในสายตาของเราที่น่าสนใจมาก เพราะมันเป็นกิจการที่มีคุณสมบัติเกือบจะเป็น Great Company หรือบริษัทที่ยิ่งใหญ่ แต่ซื้อขายกันในราคาที่ถูกมาก แบบนี้เราอาจจะ “เสี่ยง” ซื้อหุ้นทั้งที่เรายังไม่ค่อยแน่ใจในความซื่อสัตย์ของผู้บริหาร
ตัวอย่างของความยืดหยุ่นต่อมาก็ เช่น เราอาจจะมีกฎว่าจะลงทุนเฉพาะในกิจการที่เรารู้จัก และเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ของบริษัทเท่านั้น แต่แล้วเราอาจจะพบบริษัทที่ทำกิจการหลากหลายมากมายดูแล้วก็สับสน แต่สิ่งที่เรารู้อย่างหนึ่งก็คือ บริษัทมีทรัพย์สินหรือธุรกิจหลักบางอย่างที่มีค่ามาก บางทีอาจจะเท่ากับ หรือมากกว่ามูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมด และเราดูแล้วว่าธุรกิจหรือทรัพย์สินอื่นๆ ของบริษัทที่เราไม่ค่อยรู้นั้น น่าจะมีค่าเป็นบวกพอสมควร โดยมีข้อพิสูจน์จากผลการดำเนินงานของบริษัทที่มีกำไรสม่ำเสมอมาหลายปีติดต่อกัน แบบนี้เราก็สามารถยืดหยุ่นเงื่อนไขที่ว่าเราจะต้องรู้จักธุรกิจที่เราจะลงทุนอย่างลึกซึ้งได้

นักลงทุนบางคนอาจจะตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่ยอมซื้อหุ้นที่มีค่า PE หรือราคาต่อกำไรต่อหุ้นเกิน 20 เท่า เพราะคิดว่ากิจการจะดีแค่ไหนก็ไม่คุ้มที่จะลงทุนถ้าราคาหุ้นแพงเกินไป นี่มักจะเกิดขึ้นกับ Value Investor ที่เป็นพวก “หัวรุนแรง” หรือเคร่งครัด ที่เน้นทางด้านราคาหุ้นมากกว่าคุณภาพ และต้องการ Margin Of Safety สูงสุด ซึ่งมักจะคิดว่าเสียดายที่ไม่ได้ซื้อดีกว่าเสียใจที่ซื้อแล้วขาดทุนหนักเพราะค่า PE สูง ในกรณีนี้ ผมเองคิดว่าเรื่องการซื้อหุ้นที่มีราคาสูงมากนั้น บางทีก็ต้องมีข้อยกเว้น เราต้องมีความยืดหยุ่นพอที่จะซื้อหุ้นที่มีค่า PE ที่ดูเหมือนว่าจะสูงจนรับไม่ได้ เพราะในบางครั้งบริษัทหรือหุ้นตัวนั้นอาจจะดีจริงๆ และโอกาสที่จะได้เห็นราคาที่ต่ำลงมามากนั้น คงจะน้อยมาก และเราไม่อยากจะพลาดที่จะเป็นเจ้าของ ลักษณะแบบนี้ เราอาจจะต้อง “กลั้นใจ” ซื้อ

เรื่องของความยืดหยุ่นในด้านของแนวทางหรือวิธีการซื้อขายหุ้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรจะต้องมีเช่นเดียวกันอย่าง เช่น ระยะเวลาการลงทุนหรืออัตราการทำกำไรก่อนที่เราจะขายหุ้น ตัวอย่าง เช่น ผมเองนั้นมักจะตั้งระยะเวลาการถือหุ้น ว่าอย่างน้อยควรถือหุ้นยาวสัก 5 ปี และก่อนจะขายหุ้นนั้น อย่างน้อยควรจะมีกำไรสัก 30% ขึ้นไป แต่ในหลายครั้งผมก็อาจจะขายหุ้นหลังจากซื้อมาได้เพียง 2-3 ปี หรือมีกำไรเพียง 10-20% ก็ขายไปแล้ว หรืออย่างในกรณีที่เราตั้งเกณฑ์ว่า เราจะไม่ถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากกว่า 30% ของพอร์ต เพราะเราเกรงว่า ถ้าพลาดเราจะเสียหายหนัก แต่ในบางครั้งเมื่อเราพบหุ้นที่เรามั่นใจมาก เราก็อาจจะฝ่าฝืนกฎข้อนี้ อย่างน้อยก็ในระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความยืดหยุ่นในเรื่องของกลยุทธ์การลงทุนนี้อาจจะมีได้มากกว่าในกรณีของการเลือกหุ้นลงทุน เนื่องจากกฎที่ตั้งเอาไว้อาจจะไม่ใช่ “กฎเหล็ก” แต่เป็นแนวทางปฏิบัติที่มักจะปรับเปลี่ยนไปได้ตามกาลเวลาและสถานการณ์

ข้อสรุปของผมก็คือ ความยืดหยุ่นในเรื่องของการลงทุนนั้นเป็นสิ่งจำเป็นของการเป็น Value Investor ที่ดี ผมคิดว่านักลงทุนทุกคนจะต้องตระหนักว่าการลงทุนนั้น ไม่สามารถที่จะกำหนดเป็นเกณฑ์ตายตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ แต่การยืดหยุ่นนั้น เราจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อมีปัจจัยสำคัญจริงๆ ที่สามารถลบล้างกฎเกณฑ์ได้ ไม่ใช่ยืดหยุ่นตลอดเวลาจนกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้แทบไม่มีความหมาย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *