ข้อเสนอเชิงนโยบาย “ระบบเพื่อลดอุบัติเหตุรถโดยสาร”

ข้อเสนอเชิงนโยบาย “ระบบเพื่อลดอุบัติเหตุรถโดยสาร”

สถิติคดีอุบัติเหตุจราจรทางบกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุอย่างชัดเจนว่า ในช่วง 4 ปีคือระหว่างปี 2545 – 2548 รถโดยสารขนาดใหญ่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดถึง 4,509 คัน โดยในปี 2546 รถโดยสารประสบอุบัติเหตุคิดเป็นร้อยละ 2.54 ของอุบัติเหตุรวมทั้งหมด และแม้แนวโน้มจำนวนอุบัติเหตุจากรถโดยสารที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ จะลดลงจาก 2,609 คัน เป็น 2,269 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 13.03 ทว่าจำนวนอุบัติเหตุกลับเพิ่มสูงขึ้นในต่างจังหวัดแทน โดยระหว่างปี 2545 – 2547 จาก 1,355 คัน เพิ่มสูงเป็น 1,928 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 42.29
การพลัดพรากทางร่างกายและทรัพย์สินจำนวนมากจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในแต่ละคราวที่เกิดกับรถโดยสารขนาดใหญ่ในสายตาของคนทั่วไปยังยึดติดอยู่แค่ว่าเป็นเพราะความประมาทของคนขับ ความจริงแล้ว จากการสืบค้นโดยนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจรจากหลายๆ สถาบัน สรุปตรงกันว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านรถโดยสารที่ไม่ได้มาตรฐาน ด้านคนขับรถ หรือความบกพร่องของถนน หนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งสาเหตุ
ดังนั้น การป้องกันความสูญเสียจากอุบัติเหตุ จึงไม่ควรจำกัดอยู่เพียงเรื่องการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุแต่เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น หากแต่ต้องมองอย่างเป็นระบบ ครบถ้วนโดยคำนึงถึงความยั่งยืน และจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นระบบ
ทั้งนี้ในการเสวนาเรื่อง ‘สงกรานต์’ เทศกาลเดินทาง ‘รถโดยสาร พาหนะอันตราย!?’ วันพฤหัสบดีที่ 29 เดือนมีนาคม 2550 ณ ห้องสร้างสุข ชั้น 35 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งจัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย‘ระบบเพื่อลดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เน้นปัจจัยหลายด้านเพื่อลดอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน’ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ จากโรงพยาบาลขอนแก่น ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วย

1.การดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ (pre event phase)

1.1 ต้องมีการมอบหมายให้มีองค์กรหลักรับเพื่อผิดชอบ จัดทำแผนงานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนรับผิดชอบการดำเนินการตามแผนงาน และประสานงานองค์กรอื่นที่ เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการหรือสนับสนุนการดำเนินงาน
1.2 จะต้องทบทวน ปรับปรุงมาตรฐานด้านความแข็งแรงและความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ ให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับมาตรฐานสากล
1.3 จะต้องทบทวน และปรับปรุง มาตรฐานของคนขับรถโดยสารสาธารณะของประเทศไทยให้เทียบเท่า หรือใกล้เคียงกับมาตรฐานสากล
1.4 จะต้องทบทวน และปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยของถนนของประเทศไทย ที่จะต้องครอบคลุมรถโดยสารสาธารณะ
1.5 จะต้องกำหนดมาตรการในการตรวจสอบให้มีการดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนด ทั้งในด้านรถโดยสารสาธารณะ ด้านคนขับรถโดยสาร และด้านถนน อย่างจริงจัง
1.6 จะต้องลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ได้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดอย่างจริงจัง
1.7 จะต้องกำหนดสิทธิของผู้โดยสารและรณรงค์อย่างกว้างขวางให้ประชาชนในฐานะของผู้โดยสาร รถสาธารณะรู้จักและพิทักษ์สิทธิ์ของผู้โดยสาร
1.8 จะต้องสร้างเวทีสาธารณะนำเสนอสถานการณ์และปัญหาของรถโดยสารสาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนัก และตื่นตัวของภาคประชาสังคม และเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในการ ผลักดัน และแก้ปัญหาความปลอดภัยจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ

2.การดำเนินการเมื่อเกิดอุบัติเหตุ (event phase)

2.1 จะต้องพัฒนาหน่วยกู้ภัยที่มีประสิทธิภาพ สามารถออกปฏิบัติการได้โดยเร็ว ในทุกท้องที่ทั่วประเทศ
2.2 จะต้องพัฒนาหน่วยกู้ชีพที่มีประสิทธิภาพ ปฏิบัติการร่วมกับหน่วยกู้ภัย สามารถออกปฏิบัติการได้โดยเร็ว ในทุกท้องที่ทั่วประเทศ
2.3 จะต้องพัฒนาหน่วยเคลื่อนที่เร็ว สืบสวนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ที่เป็นเอกภาพ ดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีองค์กรหลักที่รับผิดชอบในการวางแผนงาน กำหนดแนวทาง และการประมวลผล

3.การดำเนินการหลังเกิดอุบัติเหตุ (post event phase)

3.1 การสรุปสาเหตุ และบทเรียนจากการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกครั้ง พร้อมข้อเสนอแนะการดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำ ในลักษณะที่เคยเกิดขึ้น ตลอดจนข้อเสนอแนะการทบทวนมาตรฐานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
3.2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนำข้อเสนอแนะไปดำเนินการ ตลอดจนการขยายผล
3.3 ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุแต่ละครั้งอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหยื่อจากอุบัติเหตุในครั้งนั้นๆ ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขอันเป็นผลจากอุบัติเหตุในครั้งนั้น หรือมาตรการที่ควรได้รับการปรับปรุง แต่ยังไม่มีการดำเนินการ

ถึงเวลาหรือยังที่รัฐและสังคมจะต้องวางระบบการลดอุบัติเหตุ และระบบเพื่อป้องกันความสูญเสียอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นสถิติความสูญเสียมหาศาลก็จะเกิดขึ้นในทุกปีตามจำนวนถนน รถ และการเติบโตของประเทศ

ที่มา : ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *