ข้อคิดจากอริสโตเติล กับรูปแบบการปกครองในปัจจุบัน

ข้อคิดจากอริสโตเติล กับรูปแบบการปกครองในปัจจุบัน
คนแคระบนบ่ายักษ์ แพทย์ พิจิตร มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1393
ในความความเข้าใจของอริสโตเติล ประชาธิปไตยที่มีคนชั้นกลางเป็น “คนส่วนใหญ่” เป็นรูปแบบการปกครอง ที่ดีกว่าประชาธิปไตย ที่ดำเนินไปในสังคมคนส่วนใหญ่เป็นคนจน หรือสังคมที่มีการแบ่งขั้วชนชั้นเป็น คนรวย-คนจนที่แตกต่างกันมาก และที่สำคัญ อริสโตเติลไม่เรียกรูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ ที่เป็นคนชั้นกลางว่า “democracy” เพราะนั่นเขาสงวนไว้เรียกประชาธิปไตยที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ที่ยากจนเท่านั้น
ดังนั้น เขาจึงเรียกรูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือคนส่วนใหญ่ที่ดีที่ไม่สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่งว่า “polity” (โพลีตี้)
ส่วนประชาธิปไตย (democracy) หรือรูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ที่นอกเหนือไปจาก “โพลีตี้” ล้วนแต่แย่กว่าทั้งสิ้น อริสโตเติลแบ่งประชาธิปไตยออกเป็นสี่แบบ ตั้งแต่แบบอ่อนๆ จนถึงแบบสุดโต่ง
ประชาธิปไตยแบบอ่อนๆ หรือในภาษาอังกฤษว่า “moderate democracy” การคัดสรรคนเข้าไปทำงานการเมือง ยังพอมีเกณฑ์เรื่องทรัพย์สินอยู่บ้าง ในประชาธิปไตยแบบนี้ อริสโตเติลชี้ว่า เกิดขึ้นในสังคมที่ประชาชนพลเมืองส่วนใหญ่ เป็นเกษตรกรชาวไร่ชาวนามักจะไม่ค่อยมีเวลามากพอที่จะใช้ไปกับเรื่องราวสาธารณะ คนพวกนี้มักจะพอใจ ที่จะให้บรรดาผู้ที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไปตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ หลายๆ เรื่องแทนพวกเขา ซึ่งคนที่ได้รับเลือกเหล่านี้มักจะมาจากชนชั้นสูง การปกครองแบบนี้ดำเนินไปตามข้อกำหนดกฎหมายที่บัญญัติขึ้น
อริสโตเติลมีทัศนะที่ค่อนข้างดีต่อประชาธิปไตยแบบเกษตรกรรมนี้ แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่เพราะคนส่วนใหญ่ในระบอบนี้— ซึ่งเป็นชาวนาชาวไร่—มีความสามารถในเรื่องราวทางการเมืองมากกว่าคนที่ทำงานประเภทอื่นๆ แต่เป็นเพราะชาวนาชาวไร่ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในระบอบนี้ ไม่ค่อยจะมีความทะเยอทะยานทางการเมือง และมักจะเป็นพวกที่ว่าง่ายหรือยอมรับอะไรได้ง่ายกว่าคนอาชีพอื่นๆ
จะว่าไปแล้ว บ้านเราก็มีส่วนคล้ายประชาธิปไตยแบบที่หนึ่งนี้ไม่น้อยเลย!
แบบที่สอง เหมือนกับประชาธิปไตยเกษตรกรรมที่กล่าวไป แต่ต่างกันตรงที่ไม่มีเกณฑ์เรื่องทรัพย์สิน สำหรับผู้ที่จะเข้าไปทำหน้าที่สาธารณะ สิทธิในการเข้าไปทำงานบ้านงานเมืองเปิดให้กับคนทุกคนที่เป็นพลเมือง นั่นคือ คนที่มีพ่อแม่เป็นคนในรัฐนั้น อย่างไรก็ตาม จากการที่ไม่มีเงินค่าตำแหน่งสำหรับผู้ที่เข้าไปทำงานสาธารณะ ประชาชนพลเมืองจำนวนมากจึงไม่ค่อยจะสนใจไปเสียเวลากับงานบ้านงานเมืองนี้กันเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม การปกครองก็ดำเนินไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่วางไว้
และเช่นกัน บ้านเราก็มีบางส่วนในแบบที่สองด้วย
แบบที่สาม ประชาธิปไตยแบบนี้ไม่ได้กำหนดเกณฑ์ของความเป็นพลเมืองไว้เคร่งครัดอย่างสองแบบที่ผ่านมา สถานะความเป็นพลเมืองในประชาธิปไตยแบบที่สามนี้ อาจจะขยายรวมไปถึงบรรดาเสรีชนอื่นๆ อันได้แก่ คนต่างด้าว หรือบุตรของทาสที่ได้รับอิสระแล้ว เป็นต้น ซึ่งคนพวกนี้จะไม่มีทางได้สถานะพลเมืองในประชาธิปไตยสองแบบแรกที่กล่าวไปเลย อริสโตเติลยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า องค์ประกอบทางสังคมของพลเมืองทั้งมวลในประชาธิปไตยแบบนี้ มีลักษณะของความเป็นชนบทน้อย แต่มีความเป็นเมือง (urban) มากกว่า
ประชาธิปไตยไทยยังห่างไกลจากแบบที่สามนี้ แต่เราจะพบประชาธิปไตยแบบนี้ปรากฏในสังคมตะวันตก เช่น อังกฤษบางยุคบางสมัย และประเทศแถบยุโรปเหนือ ขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยแบบนี้เห็นทีจะอยู่ในจินตนาการของ คุณจอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ด้วย ที่เขาได้เสนอให้ขยายสิทธิประโยชน์ต่างๆไปสู่คนต่างด้าวหรือคนที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย
แบบที่สี่ หรือที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบสุดโต่ง” ประชาธิปไตยแบบนี้ไม่มีข้อจำกัดหรือเกณฑ์ต่างๆ สำหรับความเป็นพลเมือง หรือการมีสิทธิเข้าไปทำหน้าที่สาธารณะ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีการให้เงินค่าชดเชย สำหรับผู้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอีกด้วย ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ทำให้การปกครอง และการบริหารงานสาธารณะ เป็นไปตามกฎหรือข้อกำหนดที่มาจากประชาชนในทุกๆ เรื่อง โดยไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายใดๆ มาตีกรอบการตัดสินใจของประชาชน ขณะเดียวกัน กิจการงานเมืองทั้งหลาย ก็ถูกกำหนดให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นผลประโยชน์ ของคนส่วนใหญ่ (ซึ่งเป็นคนจน) ทั้งสิ้น
อริสโตเติลเทียบเคียงประชาธิปไตยแบบนี้กับการปกครองแบบทรราชสุดโต่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า การปกครองทั้งสองรูปแบบนี้ดำเนินไปโดยเน้นที่ผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างตามอำเภอใจไม่มีกฎกติกาใดๆ นอกจากนี้ ประชาธิปไตยแบบสุดโต่งนี้ยังมักจะเอียงเอนไปตามกระแสอิทธิพลของ “นักการเมือง” หรือประชาชนบางคน ที่มีความสามารถจะโน้มน้าวประชาชนส่วนใหญ่อื่นๆ ในสภาได้ โดยหวังจะมีบทบาทสำคัญในทางการเมือง
คนแบบนี้มักจะไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่แน่นอน แต่ชอบแสดงทัศนะหรือเสนอนโยบายตามการคาดเดา ต่อกระแสมวลชนเพื่อแสวงหาความนิยม คนพวกนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของ “demagogue” ความสัมพันธ์ของคนพวกนี้กับสภาประชาชนก็ไม่ต่างอะไรจากบรรดาพวกสอพลอที่ชอบเลียทรราช
หลายคนคงคิดว่า ประชาธิปไตยของไทยเราก็มีบรรยากาศแบบสุดโต่งนี้ในบางเวลา บางขณะ!
จริงๆ แล้ว เดิมทีคำว่า “demagogue” นี้ มิได้มีความหมายในทางลบมาก่อน เพราะคำนี้แปลตรงตัวได้ว่า “ผู้พิทักษ์คนส่วนใหญ่” หรือ “ผู้พิทักษ์ประชาชน” แต่พอมีคนชอบอ้างกันมากๆ ว่า “ตนทำหรือเสนอสิ่งต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่” แต่ในความเป็นจริงเพียงหวังคะแนนนิยมหรือผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น เมื่อพวกนี้มีมากๆ เข้า หนักๆ เข้า และทำความเสียหายให้กับสังคม คำว่าความหมายของคำว่า “demagogue” ก็เลยแผลงไปเป็น “พวกประจบสอพลอ หลอกประชาชนเพื่อหวังประโยชน์ส่วนตัวในทางใดทางหนึ่ง”
คงจะคล้ายๆ กับคำว่า “นักการเมือง” ในบ้านเรากระมัง!
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบที่ถือว่าดีได้ ก็ต่อเมื่อ คนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ซึ่งอย่างที่กล่าวข้างต้นว่า อริสโตเติลตั้งชื่อรูปแบบการปกครองแบบนี้ว่า “โพลีตี้” (polity)
จะว่าไปแล้ว นัยความหมายของคำว่า “polity” หมายถึง “ลักษณะรูปแบบการเมือง” หรือถ้าจะแปลให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “รูปแบบการเมืองการปกครอง” นั่นเอง อริสโตเติลใช้คำว่า “polity” ในสองนัย นั่นคือ รูปแบบการเมืองการปกครอง และ รูปแบบการปกครองที่อำนาจอยู่ในมือของคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนชั้นกลาง
ในการทำความเข้าใจรูปแบบการปกครองที่มีชื่อว่า “โพลีตี้” นี้ เราจะสังเกตได้ว่า หลักการทั่วไป สถาบันและโครงสร้างในการปกครองรูปแบบนี้ มีลักษณะที่ผสมผสานรวมเอาลักษณะของประชาธิปไตย และคณาธิปไตยเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ในกิจกรรมทางการเมืองหรือกิจกรรมสาธารณะอย่างการกำหนดนโยบาย อาจจะใช้สภาประชาชน แต่อำนาจของสภาจะต้องมีจำกัด
เช่นเดียวกัน ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บางตำแหน่งควรต้องใช้วิธีการแต่งตั้งตามวิถีคณาธิปไตย บางตำแหน่งก็ใช้การเลือกตั้ง ส่วนบางกลุ่มหรือบางคณะที่มีหน้าที่ในกระบวนการนิติบัญญัติและตุลาการ ก็ให้มาจากทุกชนชั้นในสังคม แต่บางคณะทำงานก็ต้องคัดสรรมาจากบางชนชั้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว อริสโตเติลก็ยังไม่ค่อยจะมีความแน่นอนนักเกี่ยวกับการจัดองค์กร และสถาบันทางการเมืองการปกครองของรูปแบบการปกครองนี้ อาจเป็นเพราะรูปแบบการปกครองดังกล่าวนี้ มีส่วนผสมที่หลากหลายจากการปกครองแบบคณาธิปไตยและประชาธิปไตย แม้ว่าอริสโตเติลจะยอมรับว่า ในทางทฤษฎี การปกครองแบบ “โพลีตี้” นี้อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยหลากหลายที่มา เพราะมันอาจจะเกิดจากการมีส่วนผสมของอภิชนาธิปไตยก็ได้ด้วย แต่ในทางความเป็นจริง มันเป็นรูปแบบการปกครองที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นจริงได้ยากยิ่ง
เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้ว จากข้อสังเกตของเขา เขาพบว่า มันยากที่จะมีสังคมใดที่คนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว คนส่วนใหญ่ในสังคมโดยทั่วไปมักจะเป็นคนยากจน แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ก็ตาม ข้อสังเกตของอริสโตเติลก็ดูจะยังเป็นจริงอยู่
จะว่าไปแล้ว อริสโตเติลอาจจะคิดรูปแบบการปกครองแบบ “โพลีตี้” นี้ขึ้นมาเพื่อเป็นรูปแบบบริสุทธิ์ในอุดมคติ ที่ใช้เป็นมาตรวัดความเบี่ยงเบน ของการปกครองแบบคณาธิปไตย อภิชนาธิปไตยและประชาธิปไตยเสียมากกว่าที่เขาคิดว่ามันจะเกิดขึ้น และดำรงอยู่จริงๆ เป็นตัวให้เห็นจับต้องสัมผัสได้

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *