ขิง

ขิง
• อาหาร
สาระประโยชน์น่ารู้
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber officinale Roscoe
ชื่อวงศ์ : Zingiberaceae
ชื่อสามัญ : Ginger
ชื่ออื่น : ขิงแกลง, ขิงแดง (จันทรบุรี), ขิงเผือก (เชียงใหม่), สะเอ (แม่ฮ่องสอน), ขิงบ้าน, ขิงแครง, ขิงป่า, ขิงเขา, ขิงดอกเดียว (ภาคกลาง), เกีย (จีนแต้จิ๋ว)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ขิงเป็นพืชล้มลุกมีลำต้นใต้ดินซึ่งมีลักษณะคล้ายมือหรือที่เรียกว่า “เหง้า” เปลือกเหง้ามีสีเหลืองอ่อน แต่เนื้อภายในมีสีเหลืองอมเขียว ขิงจัดเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับข่า ขมิ้น กระวาน เร่ว ขิงอ่อนมีสีขาวออกเหลือง มีรสเผ็ดและกลิ่นหอม ยิ่งแก่ยิ่งมีรสเผ็ดร้อน ลำต้นบนดินมีลักษณะเป็นกอสูงประมาณ 90 เซนติเมตร ถ้ากนใบเป็นกาบหุ้มซ้อนกัน ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับเรียงกันเป็นสองแถว มีรูปร่างคล้ายใบไผ่ ปลายใบเรียวแหลม ดอกมีสีขาวออกเป็นช่อบนยอดที่แยกออกมาจากลำต้นซึ่งไม่มีใบที่ก้านดอก ดอกมีลักษณะเป็นทรงพุ่มปลายดอกแหลม มีเกล็ดอยู่รอบๆดอกจะแซมออกมาตามเกล็ด ผลมีลักษณะกลมแข็ง

การขยายพันธุ์
ใช้เหง้า ปลูกในดินร่วนซุยผสมปุ๋ยหมัก หรือดินเหนียวปนทราย โดยยกดินเป็นร่องห่างกัน 30 ซม. ปลูกห่างกัน 20 ซม. ลึก 5 – 10 ซม. ขิงชอบขึ้นในที่ชื้นมีการระบายน้ำดี ถ้าน้ำขังอาจโดนโรคเชื้อรา

วิธีปลูก
1. เตรียมดินร่วนคลุกกับปุ๋ยคอก ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 4-5 วัน
2. ขิงที่จะนำมาปลูกนั้นควรใช้ส่วนเหง้าที่แก่จัด ผิวไม่เหี่ยว มีปุ่มตามากยิ่งดีเพราะจะทำให้รากงอกได้ง่าย หลังจากนั้นนำปูนแดงที่กินกับหมากป้ายตามแผลที่ตัด เพื่อไม่ให้ขิงเน่าก่อนงอก
3. นำเหง้าขิงฝังลงในหลุมที่เตรียมไว้ ในช่วงระยะแรกควรรดน้ำให้ชุ่ม ทุกเช้า – เย็น แต่หลังจากขิงงอกต้นอ่อนแล้วให้รดน้ำวันละ 1 ครั้ง ไม่ควรรดน้ำหรือโดนแดดมากเกินไปเพราะอาจทำให้ขิงไม่โตหรือทำให้รากเน่าได้

พันธุ์ขิง
พันธุ์ขิงพอจำแนกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
ขิงใหญ่หรือขิงหยวก จะมีแง่งใหญ่ ข้อห่าง เนื้อละเอียดไม่มีเสี้ยนหรือมีแต่น้อยมาก รสเผ็ดน้อย ใต้เซลล์ผิวเมื่อลอกเยื่อหุ้มอกจะไม่มีสีหรือมีสีเหลืองเรื่อ ๆ ลักษณะของตาที่ปรากฏบนแง่ง กลมมน ลำต้นสูง ปลายใบป้าน เหมาะสำหรับปลูกเป็นขิงอ่อน ส่งโรงงานเพื่อแปรรูปเป็นขิงดอง ขิงแช่อิ่มหรือใช้บริโภคสดก็ได้
ขิงเล็กหรือขิงเผ็ด จะมีแง่งเล็ก สั้น ข้อถี่ เนื้อมีเสี้ยนมาก รสค่อนข้างเผ็ด ลักษณะของตาที่ปรากฏบนแง่งค่อนข้างแหลม แตกแขนงดี นิยมปลูกเป็นขิงแก่ เพราะได้น้ำหนักดี ใช้ทำเป็นพืชสมุนไพรประกอบทำยารักษาโรค และสกัดทำน้ำมัน

การเก็บเกี่ยว
ขิงจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 10-12 เดือน หลังจากปลูกหรือจะสังเกตได้จากใบและลำต้นเริ่มเหี่ยวเฉา เมื่อขิงมีอายุย่างเข้าเดือนที่ 8 ในการเก็บเกี่ยวนั้นหากเป็นพื้นที่แห้งและแข็ง ให้รดน้ำที่แปลงเพื่อให้ดินอ่อนตัวก่อนจึงใช้มือดึงขึ้นมาก จากนั้นเขย่าดินออกทิ้ง ตัดรากและใบเหี่ยวออก แยกแง่งที่จะใช้สำหรับทำพันธุ์ โดยเลือกแง่งที่อวบใหญ่ปราศจากเชื้อโรค แมลง และไม่มีแผล

ที่มา : คลังปัญญาไทย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *