การใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

การใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
“ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือ แม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง และทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่าเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ”
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา: 4 ธันวาคม 2541)

“เศรษฐกิจพอเพียง” (sufficiency economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด รวมถึงการพัฒนาและบริหารประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ
ยิ่งโลกวิวัฒนาการไปมากเท่าไร มนุษย์ยิ่งบริโภคเกินตัว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงจะสามารถนำไปใช้เพื่อสร้างความสมดุลในชีวิตและการพัฒนาประเทศได้อย่างไร ? ประชาคมวิจัยฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก
ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาขยายความให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความหมายและหลักแนวคิดที่แท้จริงของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้อย่างไร ? จะเสริมสร้างให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนชาวไทยได้อย่างไร ?
• แก่นแท้และความหมายของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ที่แท้จริงคืออะไรคะ
แก่นแท้และความหมายที่สำคัญมี 2 นัยคือ เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร และอีกนัยหนึ่งคือ ความหมายแปลว่าอะไร “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” คือ หลักคิดเพื่อการดำรงชีวิต การที่เราจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้ เราต้องมีหลักคิดว่าเราจะดำรงชีวิตอย่างไร เพื่ออะไร ทำอะไร และสุดท้ายเป้าหมายของชีวิตคืออะไร ตรงนี้แหละคือแก่นแท้ของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็คือวิถีชีวิตของคนไทยที่อยู่ในสภาวะแวดล้อมไทย หรือภูมิสังคมแบบไทยๆ กล่าวคือเป็นหลักคิดในการดำรงชีวิตที่สอดคล้องกับภูมิสังคมของประเทศไทย

• ที่มาของหลักคิดดังกล่าวเป็นมาอย่างไรคะ
จากการค้นคว้า การสืบค้นข้อมูล และงานวิจัยที่อาจารย์ได้ทำในโครงการเศรษฐกิจพอเพียง อาจารย์อยากสรุปว่า ปรัชญาของเศรษฐิจพอเพียง เป็นหลักการดำรงชีวิต ที่ตกผลึกจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศ ทรงเข้าพระราชหฤทัยในคนไทย สังคมไทย ทรงรู้จักภูมิประเทศของไทยทั้งหมด รวมถึงประสบการณ์ส่วนพระองค์ในการพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพระองค์ท่านตกผลึกทางความคิดว่า หลักคิด หลักปฏิบัติ และหลักการดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเหมาะสมกับคนไทยมากที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 2538-2539 พระองค์ท่านได้พระราชทานแนวคิด “เกษตรทฤษฎีใหม่” ซึ่งมีลักษณะเป็นขั้นเป็นตอน เน้นเรื่องการทำเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งเหมาะสมกับภาคชนบทไทยมากกว่าภาคเมือง และต่อมาในปี 2540 พระองค์ท่านได้พระราชทาน “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้ภาคเกษตร ภาคชนบท ภาคเมือง ภาคเอกชน ภาครัฐ นำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุล และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจารย์คิดว่า 2 มิตินี้เป็นมิติที่สำคัญมากของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
• แนวทางปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ทั้งในระดับบุคคล องค์กร ชุมชน ควรเป็นอย่างไรคะ
แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปสู่การใช้ชีวิตที่สมดุลและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง นี้สามารถใช้ได้ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว กลุ่มองค์กร ชุมชน และภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น หน่วยที่เล็กที่สุดคือ ตัวเราเอง การใช้ชีวิตที่สมดุลทั้งทางกายและจิตเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เอาแต่เรื่องทางกายอย่างเดียว แต่งตัวสวยงามแต่จิตใจเศร้าหมอง หรือเอาแต่เรื่องทางจิตอย่างเดียว อดอาหาร ไม่ดูแลร่างกายก็ไม่ได้ พอเริ่มมีครอบครัว ก็มีหลายมิติที่ต้องสร้างให้เกิดความสมดุล ทั้งในการใช้เวลาชีวิตส่วนตัว ครอบครัว การงาน และจิตใจ

ในการทำงาน ก็ต้องขยันหมั่นเพียร อดทนทำงานให้มีรายได้อย่างน้อยก็พอเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เมื่อตัวเองพอมีพอกินระดับหนึ่ง ก็ควรคำนึงถึงความพอประมาณในการบริโภค ส่วนที่มีเกินพอ หรือไม่จำเป็น ก็ควรเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ให้กับสังคม ผู้ที่ยังขาดแคลนในด้านต่างๆ หรือด้อยโอกาส และยังต้องการความช่วยเหลือ ยังมีอยู่มาก การแบ่งปันช่วยเหลือกันจะนำไปสู่ความสามัคคี ความพอเพียงในชุมชน และในสังคมได้ การไม่เบียดเบียนตนเอง ครอบครัว ผู้อื่นในสังคม จะทำให้เราอยู่กันได้อย่างสันติสุข

ส่วนในระดับองค์กร ชุมชน หรือสังคมนั้น ก็ต้องพยายามรักษาสมดุลทางสังคม สมดุลทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในสังคม การแบ่งปัน เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันนั้น สามารถนำไปสู่ความสันติสุขและความสามัคคี ได้ระดับหนึ่ง สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือหลักการไม่เบียดเบียนกัน ไม่เบียดเบียนชีวิตหรือทรัพย์สิน ของผู้อื่นเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัวเอง เป็นต้น การให้เกียรติ เคารพสิทธิของผู้อื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นการดำรงตนตามหลักมีเหตุผล หรืออย่างกลุ่มพัฒนาต่าง ๆ เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กลุ่มสหกรณ์แม่บ้าน ถ้าเกิดทำผลผลิตมาแล้วเกิดความไม่เท่าเทียม บางคนผลิตมาก บางคนผลิตน้อย หรือผลิตปริมาณเท่า ๆ กัน แต่รายได้เฉลี่ยแบ่งแล้วไม่เกิดความสมดุลกัน เขาก็อยู่ไม่ได้ การแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์ของกลุ่ม ก็ต้องใช้สมเหตุสมผล มิฉะนั้นความสมดุลก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ในระดับชาติ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ถ้าการพัฒนาเป็นแบบรวยกระจุก จนกระจาย สังคมเกิดปัญหาขึ้น คนจนอาจลุกขึ้นมาประท้วง ความสันติสุข รู้รักสามัคคี ก็ยากที่จะรักษาได้ และไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามกฎอนิจจัง เพราะฉะนั้น เราต้องไม่ประมาท ต้องตั้งสติให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง คิดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร ทั้งหมดนี้ก็เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับตัวเอง
ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี ชีวิตก็จะปรับเปลี่ยนเข้าสู่สมดุล และสามารถพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงได้
“เราจะสร้างสังคมสันติสุข สร้างความสามัคคี และสร้างความมั่นคง ยั่งยืนได้ ต้องสร้างสมดุลแบบนี้ให้เกิดขึ้นในทุกระดับ ทุกขั้นตอน เหมือนรถยนต์ที่ต้องมี 4 ล้อ หากขาดล้อใดล้อหนึ่งไป รถก็แล่นไม่ได้”
จะเห็นว่า “ความสมดุล” ในหลาย ๆ มิติ จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ แต่มนุษย์ก็ต้องตระหนักว่า เราต้องอยู่แบบสมดุลกับธรรมชาติด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์ดังเช่น ภัยพิบัติน้ำท่วม ฝนแล้ง ที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงสมดุลทางธรรมชาติ หรือการไม่เบียดเบียนธรรมชาติ อย่างคนไทยในปัจจุบันป่วยเป็นโรคแปลก ๆ มากกว่าคนสมัยก่อน เพราะรับประทานอาหารที่เคลือบไปด้วยสารเคมีและยาฆ่าแมลง เพราะเรามีความเชื่อที่ผิด ๆ ว่าของดีคือของที่สวยงาม ซึ่งทำให้ผู้ผลิตหรือเกษตรกรเขาต้องผลิตของตามค่านิยมของเรา แต่ถ้าทุกคนนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตที่ต้องพัฒนาให้เกิดสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตก็ไม่ต้องใช้สารเคมีมากนัก แต่หันมาเน้นการปลูกแบบอินทรีย์มากขึ้น สุขภาพก็มีปัญหาน้อยลง และยังขายได้ราคาดีด้วย วิถีชีวิตของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคก็จะถูกปรับเปลี่ยน การที่ทำอะไรคำนึงถึงความสมดุลทางสังคม สมดุลทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั่นเอง

เราจะสร้างสังคมสันติสุข สร้างความสามัคคี และสร้างความยั่งยืนได้ ต้องสร้างสมดุลแบบนี้ให้เกิดขึ้นในทุกระดับ ทุกขั้นตอน เหมือนรถยนต์ที่ต้องมี 4 ล้อ หากขาดล้อใดล้อหนึ่งไป รถก็แล่นไม่ได้ แต่ปัญหาการพัฒนาประเทศ การพัฒนาชุมชนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มองแล้วไม่ง่ายเหมือนสมดุลของรถยนต์ที่มี 4 ล้อ เพราะได้สร้างความไม่สมดุลขึ้นมาในทุกขณะ ทุกขั้นตอน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ถูกสั่งสมมาโดยตลอด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นแล้วว่า การสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราอยู่กันได้อย่างสันติสุข ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน ถ้าเรามีความสามัคคี มีความรักในประเทศชาติ เราก็จะสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนและเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและประเทศในเวลาเดียวกัน
“อาจารย์ได้แต่คิดว่า หากเรายังไม่รีบเร่งให้คนไทยมาเห็นคุณค่าและความสำคัญของการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง คือ การสร้างความสมดุล และการใช้ชีวิตแบบพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง มันจะสายไป และจริงๆ มันก็สายไปทุกวินาทีแล้ว”
• ความเห็นเกี่ยวกับ “ความพอเพียง” กับการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์
หลักเศรษฐกิจพอเพียงมีพื้นฐานความคิดมาจากพระพุทธศาสนา คือมองทุกอย่างในโลกล้วนเป็นอนิจจัง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถามว่าเราจะอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างไร? เราต้องมีการเตรียมตัวและเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ตามแนวทางพุทธศาสนา คือ การให้ทาน การรักษาศีล การต้องมีจิตตั้งมั่นหรือมีสมาธิในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ และการพัฒนาปัญญาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รู้เท่าทัน กล่าวคือ
• ก่อนอื่น ต้องรู้ว่าทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราต้องรู้เท่าทันสถานการณ์โลกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงใดบ้างแล้ว หลักเศรษฐกิจพอเพียงบอกให้เรารู้จักตื่นตัว มีสติ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เมื่อรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็จะพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
• ต้องทำอะไรให้พอประมาณกับความสามารถของตัวเอง พอประมาณกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ซึ่งไม่ใช่แค่กินพอประมาณ อยู่พอประมาณ แต่ลึกซึ้งมากกว่านั้น ซึ่งจะพอประมาณได้ก็ต้องใช้หลักเหตุหลักผลมาพิจารณาด้วย เช่น ราคาน้ำมันที่พุ่งตัวสูงขึ้น เราต้องคิดว่าเราจะใช้ car-pool แทนดีกว่าไหม? เป็นต้น
• ต้องคิดและทำบนหลักของเหตุผล จะทำอะไรพอประมาณได้ เราต้องคิดแบบมีเหตุมีผล ไม่คิดเข้าข้างตัวเอง คิดรอบคอบ และต้องรอบรู้ สังเกตว่าพระองค์ท่านเน้นการทำอะไรที่รอบคอบ ระมัดระวัง เป็นขั้นเป็นตอน เพราะจะได้ผิดพลาดน้อย ถ้ารีบทำจะผิดพลาดมาก
• การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เราต้องรู้จักการป้องกันไว้ดีกว่าแก้ การพัฒนาทุกระดับต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันไว้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น การมีระบบเงินออม การรักษาสุขภาพร่างกายตนเองให้ดี การมีระบบสวัสดิการที่ดีในตลาดแรงงาน ในระบบเศรษฐกิจที่มีอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาทที่สมดุลกัน ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี เป็นต้น
อาจารย์ได้แต่คิดว่า หากเรายังไม่รีบเร่งให้คนไทยมาเห็นคุณค่าและความสำคัญของการใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง คือ การสร้างความสมดุล และการใช้ชีวิตแบบพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง บนพื้นฐานของการใช้ความรู้อย่างรอบคอบ การมีศีลธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต มิฉะนั้น มันจะสายไป และมันก็สายไปทุกวินาทีแล้ว และเนื่องจากปีนี้เป็นปีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาจารย์ขอน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระองค์ท่านที่กล่าวว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นี่แหละคือ ต้นกำเนิดของหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะ “ความเป็นธรรม” ก็คือ ความสมดุลนั่นเอง “เพื่อประโยชน์สุข” ก็คือทั้งมีประโยชน์ด้วยและมีความสุขด้วย คือ ความสุขทั้งทางกายและทางใจต้องไปด้วยกัน พระองค์ท่านทรงเน้นเสมอว่าถ้าเอาแต่ประโยชน์แต่ไม่เกิดความสุข ก็ไม่ได้ “แห่งมหาชนชาวสยาม” ประโยคนี้เป็นตัวตัดสินเลยว่าหากทำอะไรก็ตามแต่ ถ้าคนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับผลประโยชน์ มีความสุข ก็สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ หลักเศรษฐกิจพอเพียง เน้นให้คน ครอบครัว ชุมชนรู้จักพึ่งตนเองได้แบบเป็นขั้นเป็นตอน สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง หลังจากที่อาจารย์ได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงและได้ศึกษาสิ่งที่พระองค์ท่านทรงงานมามากมาย ทำให้อาจารย์รู้สึกเสียดายที่พวกเราไม่ค่อยได้เรียนรู้ หรือดำเนินรอยตามวิถีปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นจากการสั่งสมประสบการณ์ จากพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาหลายสิบปี

อาจารย์เคยได้ฟังผู้ใหญ่ซึ่งถวายงานพระองค์ท่าน เล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีราษฎรต้องการรถแทรกเตอร์เพื่อใช้ไถนา แต่พระองค์ท่านเห็นว่ายังไม่เหมาะสมกับศักยภาพของเขา เพราะหากได้รถแทรกเตอร์ไปแล้ว เกิดเสียขึ้นมา ใครจะซ่อม พระองค์ท่านต้องการให้ราษฎรของพระองค์พึ่งตนเองได้ ท่านจึงได้พระราชทานควายไป 2 ตัว เพื่อให้เขาไถนาได้ก่อน แล้วเก็บเงิน ถ้ามีลูกหลานก็อาจส่งไปเรียนช่างในตัวจังหวัด ให้รู้จักซ่อมเครื่องยนต์เป็น แล้วค่อยรวบรวมเงินซื้อรถแทรกเตอร์ของหมู่บ้าน นี่คือตัวอย่างที่พระองค์ท่าน ทรงสอนให้รู้จักดำเนินชีวิตแบบเป็นขั้นเป็นตอน ให้รู้จักพึ่งตนเองได้ ไม่ใช่ใช้วิธีการแจกเงิน แจกรถแทรกเตอร์ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่สอดคล้องกับเส้นทางการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน ที่ทรงมุ่งเน้นให้คนไทยโดยเฉพาะในชนบทให้พึ่งตนเองได้ นี่คือสิ่งที่อาจารย์ถึงบอกว่าเสียดายอดีตและเป็นห่วงอนาคต…

ความพอเพียงที่อยากพูดถึงในที่นี้มี 2 ระดับด้วยกันคือ ความพอเพียงระดับพื้นฐาน และความพอเพียงระดับก้าวหน้า ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง “เกษตรทฤษฎีใหม่” ขั้นที่ 1 เป็นความพอเพียงระดับพื้นฐาน คือ เพื่อให้แต่ละบุคคล แต่ละครอบครัว สามารถพึ่งตนเองได้ และมีชีวิตอยู่ได้อย่างสมดุล ส่วนขั้นที่ 2 และ 3 ของทฤษฎีนี้เป็นความพอเพียงระดับก้าวหน้า ที่พอแต่ละครอบครัวรู้จักพึ่งตนเองได้แล้ว คือสามารถอยู่ได้อย่างพอเพียงด้วยตนเอง ก็สามารถทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มในชุมชน ซึ่งตรงนี้ต้องมีขันติธรรม รู้จักการให้และรับ การไม่เบียดเบียนกัน ตรงนี้จะสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคมได้ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อตนเองต้องรู้จักพอ ไม่โลภ เสียก่อน แต่ถ้าไม่รู้จักพอ ไม่เพียงแต่จะไม่ให้คนอื่น ของคนอื่นก็จะรู้สึกอยากได้เป็นของตัวเอง แสดงว่าถ้าไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักการเสียสละแบ่งปันเสียแล้ว ทั้งในครอบครัว ในสังคม และในองค์กรก็ยากที่จะอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุข สังคมก็จะกลายเป็นสังคมที่แก่งแย่งชิงดีกัน เบียดเบียนกัน ไม่รู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน

อาจารย์คิดว่า การที่พระองค์ท่านได้พระราชทานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมา ก็เพราะทรงเล็งเห็นแล้วว่าเมืองไทยเราเป็นอย่างนี้ ในอดีตเราก็อยู่กันได้ แสดงว่าพื้นฐานด้านจิตใจ สังคม และประเทศ เราอยู่กันอย่างสมดุลและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ถ้าแปลความแล้วก็คือ “แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นการรักษาสิ่งที่เรามีและดีอยู่แล้วให้คงอยู่ตลอดไป แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ การนำที่สิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสังคมไทยและไม่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาในสังคม

อาจารย์ขอยกตัวอย่าง 2 เรื่องคือ เรื่องแรก อาจารย์มีเพื่อนชาวอังกฤษ ที่เขามาเมืองไทย และตอนหลังไม่กลับไปที่อังกฤษเลย เขาบอกว่าคนอังกฤษที่อยู่ในเมืองหลวง (กรุงลอนดอน) ที่อยู่ตาม อพาร์ทเมนท์คือ คนจน ส่วนคนรวยคือ คนที่อยู่ในชนบท สูดอากาศที่ดี กินอาหารที่ปลอดสารพิษ และอยู่อย่างพอประมาณ อาจารย์ประทับใจเขาที่เขาบอกว่า ชีวิตคนชนบทของไทยคือ วิถีชีวิตของคนรวยของอังกฤษ ส่วนคนที่ทำงานในเมืองหลวงคือ คนจน

เรื่องที่สอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ชีวิตที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มานาน ชาวสวิสก็ใช้ชีวิตเช่นเดียวกับชาวอังกฤษ ชาวสวิสที่ร่ำรวยก็ใช้ชีวิตแบบพอเพียงด้วยการทำนม ทำชีส ตัดไม้ หาฟืนไว้ใช้เองในยามฤดูหนาว ส่วนคนชั้นกลางที่ต้องไปรับจ้างทำงานในเมือง จากตัวอย่างที่เล่า จะเห็นได้ว่าสังคมที่เจริญแล้วเขาจะใช้ชีวิตแบบนี้
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย คือ เราใช้ชีวิตแบบพอเพียงและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่พยายามทำตัวเองให้เป็นสังคมล้าหลัง พัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีในประเทศ กล่าวคือ เป็นการพัฒนาที่ไม่รู้จักตัวเองอย่างแท้จริง ขาดความรอบรู้ว่าประเทศไทยมีจุดแข็งอย่างไร คนไทยมีนิสัยอย่างไร หรือสังคมไทยเป็นอย่างไร การพัฒนาที่ขาดความรอบคอบ ไม่รอบรู้ ไม่ระมัดระวัง ขาดคุณธรรม ขาดความซื่อสัตย์สุจริต ความพอเพียงก็เลยไม่เกิดในสังคม ทำอะไรก็ไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็เลยไม่สมดุล และไม่สามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้

สิ่งสำคัญคือ เราต้องเริ่มต้นจากการรู้จักตัวเองก่อน ดึงความรู้กับคุณธรรมเข้ามาเป็นพื้นฐานในสังคมไทยให้ได้ก่อน หากตรงนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็จะเข้าใจได้เองว่าพอประมาณคือแค่ไหน เพราะเรารอบรู้บนเงื่อนไขความรู้ พอประมาณในแต่ละสถานการณ์เป็นอย่างไร มีเหตุมีผลคิดอย่างไร ทำเช่นนี้แล้วจะเกิดผลเช่นไร มีภูมิคุ้มกันที่ดีแล้วหรือยัง ความสมดุลและความพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดตามมาเองอย่างเป็นขั้นเป็นตอนแบบนี้
• ความเห็นต่อการพัฒนาแบบทุนนิยมในประเทศไทย
เราจะสังเกตว่าประเทศที่มีความเป็นทุนนิยมสูง เช่น สหรัฐอเมริกา มีความเจริญมากเพราะประเทศเขามีปัจจัยที่เอื้อต่อการเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กล่าวคือ ชาวอเมริกันมีความรู้ ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างพร้อมมูลทุกเมื่อ มีเสรีภาพในการแสดงออก มีความเข้าใจในระบบการเมือง เน้นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอย่างมาก สังคมอเมริกันจึงพร้อมสำหรับระบบทุนนิยม อังกฤษก็เป็นระบบทุนนิยม รากฐานสังคมเข้มแข็ง เป็นสังคมคริสต์ ค่านิยมของสังคมคริสต์คือ ทุกวันอาทิตย์ต้องเข้าโบสถ์ ผู้นำประเทศต้องไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์นะ ถ้าไม่ไปถือว่าผิดปกติ สังคมทุนนิยมเกิดขึ้นจากสังคมคริสต์นิกายโปรแตสแตนต์ ซึ่งเป็นสังคมที่ยึดมั่นในหลักศาสนาอย่างเข้มงวด มีความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต ทำงานหาเงินเก็บเงิน สั่งสมทุน แต่ประเทศไทยที่มีปัญหาคือ เรายังไม่เข้าใจและรู้จักระบบทุนนิยมอย่างแท้จริง
วิถีชีวิตของคนไทยมีหลายเรื่องที่นำมาเป็นจุดเด่นของประเทศไทยได้ อาจารย์ชอบมากเลยนะที่มีโฆษณาบอกว่า คนไทยมีน้ำใจ คนไทยโอบอ้อมอารี จริง ๆ เราเกิดมาเป็นลูกคนรวยนะ เพราะพระแม่ธรณีให้อะไรเราทุกอย่าง อยากกินอะไรก็ปลูกเอา ของกินมีเยอะแยะ ไม่ต้องกังวลมากกับการกินอยู่ มีชีวิตแบบพอเพียง ไปต่างจังหวัด หากไม่มีเงิน ก็ไปวัด ไม่มีทางอดตาย แต่ที่ต่างประเทศเขาสามารถเพาะปลูกได้เพียง 6 เดือน/ปีเท่านั้น เขาถึงต้องสั่งสมทุนเพื่อนำเงินไปซื้อทุกอย่าง เรารู้ไม่เท่าทันเขา ปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ในสังคมเรายังไม่พร้อมที่จะนำระบบทุนนิยมมาใช้ เพราะพื้นฐานสังคมไทยไม่ใช่สังคมที่สะสมทุน
“เศรษฐกิจพอเพียง สอนให้คนโลภให้น้อยลง พอใจในสิ่งที่ได้มาจากความเพียรที่สุดแล้ว และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมด้วย ซึ่งเป็นการยากที่จะทำให้คนถึงจุดแห่งความพอเพียงได้”
• งานวิจัย สกว. ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถเชื่อมโยงสู่การใช้ประโยชน์ในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างไรบ้างคะ
หลักคิดของงานวิจัย สกว. เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงคือ การพยายามสร้างกรณีศึกษาที่ทำจริง และคิดว่า สกว. มีความเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสมกับสังคมไทย ส่วนตัวอาจารย์เองก็พยายามค้นหาโรงเรียนที่มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหมายความว่า เขามีการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถพึ่งตนเองได้ ให้เด็กมีความรู้คู่คุณธรรม ซึ่งมีตัวอย่างโรงเรียนที่ดีอยู่หลายแห่ง บางโรงเรียนมีกิจกรรมบางอย่าง เช่น กิจกรรมสหกรณ์ออมทรัพย์ของโรงเรียน กิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนผ่านไปแล้วหลายรุ่น กิจกรรมนั้น ๆ ก็ยังมีอยู่ แสดงว่าเขาพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว

ในส่วนของการค้นหาตัวอย่างในภาคชุมชน เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ มีการอนุรักษ์ควายไทย และมีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ที่ทำกันอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจของชุมชน อาจารย์จะเน้นมากเวลาค้นหากรณีศึกษา คือ ดูแล้วว่าสามารถนำไปสู่สมดุล ก้าวหน้าและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ และสุดท้ายก็มองว่าเขาได้ใช้ความรู้กับคุณธรรมนี่แหละเป็นตัวเสริมสร้างความพอเพียงให้เกิดขึ้นในสังคมและชุมชนได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งกรณีศึกษาแบบนี้สามารถหาได้ง่ายในสังคมชนบทของเรา เพราะสังคมมีวิถีชีวิตอย่างนั้นอยู่แล้ว อาจเป็นเพราะว่าเขาเป็นญาติพี่น้องกัน มีคุณธรรม มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน แต่พอใกล้เมืองเข้ามา ก็มีกรณีศึกษาน้อยลง เพราะสังคมเริ่มมีความแตกแยก

เศรษฐกิจพอเพียง สอนให้คนโลภให้น้อยลง พอใจในสิ่งที่ได้มาจากความเพียรที่สุดแล้ว และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมด้วย ซึ่งเป็นการยากที่จะทำให้คนถึงจุดแห่งความพอเพียงได้ คนที่บอกว่าเกิดมาแล้วทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ได้เงินมาดูแลครอบครัว แต่ไม่สนใจสังคมเลย แสดงว่ายังไม่มีความพอเพียงนะ เพราะยังไม่มีความสมดุล ฉะนั้นคนที่จะมีชีวิตพอเพียงได้อย่างแท้จริงต้องมีอุดมการณ์ คุณลักษณะแบบนี้หาไม่ได้ง่าย ๆ แต่ถามว่าจำเป็นต้องปลูกฝัง พัฒนาให้เกิดขึ้นหรือไม่? ต้องตอบว่าจำเป็น เพราะถ้าไม่ทำจะยิ่งช้า ยิ่งสาย พระองค์ท่านมีพระราชดำรัสว่า “แม้จะเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ” นี่คือความสำคัญของหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ ถ้าเกิดขึ้นเพียงแค่หนึ่งในสี่ ประเทศไทยก็ยังพอมีแกนหลักในสังคมที่มีวิถีชีวิตแบบพอเพียงบ้าง.
ทีมา ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 67 หน้าที่ 30-34

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *