การแพทย์พอเพียง (Sufficiency Medicine)

การแพทย์พอเพียง (Sufficiency Medicine)
โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข chanwaleesrisukho@hotmail.com มติชนรายวัน วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10337
“เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต แก่พสกนิกรชาวไทยผ่านพระราชดำรัสมานานกว่า 25 ปี ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 ได้ทรงย้ำและขยายความแนวทางแก้ไขเพื่อรอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ภายใต้กระแสโลภากิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
พระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542 มีใจความตอนหนึ่งว่า
“เศรษฐกิจพอเพียงแปลว่า Sufficiency Economy…คำว่า Sufficiency Economy นี้ ไม่มีในตำราเศรษฐกิจ จะมีได้อย่างไร เพราะว่าเป็นทฤษฎีใหม่…Sufficiency Economy นั้น ไม่มีในตำรา เพราะหมายความว่าเรามีความคิดใหม่… และโดยที่ท่านผู้เชี่ยวชาญสนใจ ก็หมายความว่าเราก็สามารถที่จะไปปรับปรุง หรือไปใช้หลักการ เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศ และของโลกพัฒนาดีขึ้น”
(ข้อมูลจาก คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ)
หากนำหลักการแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในวงการแพทย์ การแพทย์พอเพียงควรได้รับการพัฒนาให้นำไปสู่ ความสามารถในการพึ่งตนเองในระดับต่างๆ อย่างเป็นขั้นตอน สามารถลดความเสี่ยงจากความเจ็บความตาย จากปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ
โดยอาศัยความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี การมีความรู้ ความเพียร ความอดทน สติปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความสามัคคีของแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน
การแพทย์พอเพียงในความคิดของผู้เขียนควรมีลักษณะดังนี้
1.ประชาชนมีความรู้เรื่องการส่งเสริมสุขภาพ
ควรมีการกระจายความรู้เรื่องการส่งเสริมสุขภาพที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ทุกชนิดลงสู่ประชาชน โดยอาศัยสื่อ และช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยไม่มีข้ออ้างทางธุรกิจ เช่น การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคชนิดต่างๆ การรับประทานอาหารที่ถูกวิธี การออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก เฝ้าระวังการเกิดโรค การคุมกำเนิด การดูแลอนามัยแม่และเด็ก วัคซีนชนิดต่างๆ การป้องกันอุบัติเหตุ ลดความเครียด การใช้ชีวิตสายกลาง การสร้างความสุขทางใจ พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ระงับโลภ โกรธ หลง การสร้างสุขภาพราคาถูก ฯลฯ
2.ป้องกันโรคก่อนเกิดโรค
นอกจากประชาชนจะมีความตื่นตัวเรื่องป้องกันโรคแล้ว ประชาชนควรได้รับการบริการป้องกันโรคที่ป้องกันได้ทุกโรค อย่างไม่คิดมูลค่า เช่น วัคซีนต่างๆ การตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก การป้องกันอุบัติเหตุ ฯลฯ เพราะการลงทุนป้องกันโรคนั้น ถึงแม้จะมีราคาแพงแต่เมื่อเทียบกับชีวิต และการทุพพลภาพของประชาชน จากโรคที่ป้องกันได้นั้นนับว่าถูกมาก
3.ได้รักษาโรคระยะเริ่มก่อนรุนแรง
ปัญหาการกระจายความเจริญทางการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งปัญหาจากปัจจัยอื่นๆ ต่างๆ มากมาย เช่น การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ ปัญหาด้านเศรษฐกิจการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ รักษาโรคเมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องบริหารจัดการ และแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชน
4.ได้รักษาโรครุนแรงด้วยองค์ความรู้และการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ควรเร่งวิจัยการใช้ยาสมุนไพร สนับสนุนการผลิตยา การรักษาแบบไทยๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงโดยคำนึงถึงความสิ้นเปลือง ความเสี่ยง/ผลประโยชน์ที่ได้รับ (risk/benefit) เมื่อเจ็บไข้เป็นโรครุนแรงประชาชนควรได้รับการรักษามาตรฐานเดียวกัน โดยไม่ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเช่นนี้แม้มีบัตร 30 บาทฯ ก็ต้องมีช่องทางพิเศษและความช่วยเหลือให้ผู้ด้อยโอกาส
5.เมื่อไม่สามารถรักษาโรคได้ สามารถละโลกนี้ไปอย่างมีศักดิ์ศรี
เมื่อถึงเวลาต้องละโลก สามารถตายอย่างสมศักดิ์ศรี สงบ ไม่ทุกข์ทรมาน มีเกียรติ เป็นธรรมชาติ ตามความเชื่อของศาสนาที่ยึดเหนี่ยว
6.มีเครือข่ายความร่วมมือทางการแพทย์ระดับต่างๆ
นอกจากบุคลากรทางการแพทย์จะได้ทุ่มเทสติปัญญา และขยายขอบเขตความสามารถในการดูแลความเจ็บไข้ได้ป่วย ของประชาชน อย่างเต็มพลังแล้ว ประชาชนควรมีส่วนร่วมและมีเครือข่ายเชื่อมโยง สืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี บทเรียนจากการดูแลรักษาไข้ ความรู้และการรักษาทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ สร้างความเข้าใจ และความเชื่อมั่นในทางการแพทย์ จากประชาชนสู่ประชาชน จากประชาชนสู่บุคลากรทางการแพทย์ จากบุคลากรทางการแพทย์สู่ประชาชน และจากบุคลากรทางการแพทย์สู่บุคลากรทางการแพทย์ โดยไม่ยึดว่าเป็นภาครัฐหรือเอกชน
โดยเครือข่ายเหล่านี้ควรได้ช่วยเหลือกัน กว้างขวางไปจนถึงระดับนานาชาติ อย่างแบ่งปัน เฉลี่ยทุกข์สุข ไม่เบียดเบียนกัน ดูแลซึ่งกันและกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริตใจไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงซ่อนเร้นใดๆ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *