‘การมองโลกในแง่บวก’ ของ เซอร์ เดวิด ถัง

“การมองโลกในแง่บวก” ของ “เซอร์ เดวิด ถัง”
ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจดูจะมีทีท่าจะชะลอตัวไปทั่วโลก อีกทั้งสัญญาณของการฟื้นตัวยังไม่เห็นปรากฏเด่นชัดนักว่าจะมาถึงเมื่อไร ทำให้หลายท่านเกิดความตื่นตระหนกกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จนบางครั้งคิดในเชิงลบจนเกิดอาการวิตกจริตมากเกินความเป็นจริง ทำให้เกิดความหวาดระแวงในการที่จะลงทุนทำธุรกิจธุรกรรมใด ๆ ซึ่งก็เป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจโดยรวมเกิดการชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จากบรรยากาศที่อึมครึมสับสนนี้เองทำให้นักธุรกิจระดับพี่เต้ยของวงการสิ่งทอของฮ่องกง คือ ท่าน “เซอร์ เดวิด ถัง” อดรนทนไม่ได้จึงได้เขียนบทความประกาศไล่ล่าหา “การมองโลกในแง่บวก” ซึ่งท่านก็ได้ให้แนวคิดที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการมี “สติ” และการใช้ “ปัญญา” คือ การที่เราพึงมี “สติ” ในยามที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ไม่เป็นกระต่ายตื่นตูม ค่อยมองโลกตามความเป็นจริงในขณะนั้น เมื่อเจอปัญหาก็ค่อย ๆ ใช้ “ปัญญา” แก้ไขปัญหาไปทีละเปลาะ จนกว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านพ้นไป ซึ่งโดยแท้จริงแล้วถ้าหากคนเรานั้นทำอะไรด้วยความมี “สติ” ประกอบกับการใช้ “ปัญญา” คิดถึงเหตุถึงผลทั้งในด้านลบและบวกที่จะเกิดขึ้น ก็จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคนั้นไปได้ ดังคติที่ว่า “ความสงบ สยบความเคลื่อนไหว” ข้อเท็จจริงอันเป็นสัจจะแห่งธรรมะนี้สอนให้เราตระหนักอยู่เสมอว่า ไม่มีธุรกิจธุรกรรมใดในโลกที่ลงทุนแล้วไม่มีความเสี่ยง ดังนั้นต้องมองไปที่ความเป็นจริง(ทั้งในแง่บวกและลบ)ในปัจจุบันขณะเสมอ
วิกฤตทางเศรษฐกิจของโลกปัจจุบันที่แพร่กระจายไปทั่วโลกยามนี้ ทำให้ได้เห็นกระบวนการต่อสู้ทางความคิดที่สำคัญอยู่ 2 ประการ ประการแรกนั้นเป็นความคิดว่าด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอาศัยอำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงกลไกเศรษฐกิจอย่างจริงจัง (อย่างเช่นที่รัฐบาลกำลังจะอัดฉีดเงินกู้กว่า 8 แสนล้านบาท เข้าสู่ระบบในไม่ช้านี้) หรือที่เรียกว่า เป็นการเข้ามาของ “มือที่มองเห็น” เพื่อสร้างอุปสงค์เทียมกระตุ้นให้กับกลไกเศรษฐกิจได้เดินหน้า เพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชนได้ซื้อเวลาในช่วงวิกฤตและค่อยฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งแท้จริงแล้วผลที่ได้คือ การฉกฉวยโอกาสของคนที่เป็นอภิสิทธิ์ชนกลุ่มเล็ก ๆ เพียงหยิบมือที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากงบประมาณรัฐที่ทุ่มออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนประการที่สองนั้น เป็นความคิดในการให้ธุรกิจเอกชนดิ้นรนปรับตัวเข้ากับบรรยากาศใหม่ของการแข่งขัน นั่นคือความพยายามกันรัฐให้ออกไปจากกลไกในการที่จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหามากเกินไป เป็นเสมือนความพยายามที่จะใช้ “มือที่มองไม่เห็น” (หรือกลไกที่แท้จริงที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) ในการแก้ปัญหาให้มากที่สุด ถือว่าเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนโดยตรงในการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการจัดการกับความเสี่ยง สร้างนวัตกรรมทางเศรษฐกิจแนวทางใหม่ ๆ การลดต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการ รวมถึงการมุ่งไปสู่ธุรกิจธุรกรรมอันเป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มทั้งมูลค่าและคุณค่า ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะผลกำไรทางตัวเลขเป็นสำคัญอย่างที่เคยทำกันมา ซึ่งก็น่าจะเป็นความคิดที่จะเป็นประโยชน์กับสถานการณ์ปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังเป็นช่วงเวลาขาลง และอยู่ในช่วงผันผวนยากที่จะคาดเดากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเช่นนี้ จากแนวคิดนี้ ผู้ประกอบการที่ชาญฉลาดควรจะต้องเตรียมการปกป้องตัวเองเพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ ต้องมีความเชื่อมั่นในอนาคต แต่ความเชื่อมั่นดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นจากแรงกระตุ้นจากภายในว่าด้วยการมองโลกในเชิงบวก
ผมจึงอยากให้ลองเอาข้อคิดใน “การมองโลกในแง่บวก” ของ “เซอร์ เดวิด ถัง” มาลองพิจารณาเพื่อให้เรามองโลกในความเป็นจริง ไม่ยึดติดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป ถ้าต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เราก็ควรมี “สติ” แล้วค่อย ๆ ใช้ “ปัญญา” คิดแก้ปัญหาและต้องคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราสามารถที่จะแก้ปัญหาได้ และต้องมีความหวังอยู่เสมอว่าลมมรสุมแห่งชีวิตอันเป็นวิกฤติที่พัดผ่านมาไม่ว่าจะมีความรุนแรงหนักหนาสาหัสสักเพียงใดยังไงก็ต้องพัดผ่านไปอยู่วันยังค่ำ และต้องดำเนินชีวิตไปด้วยความไม่ประมาท มีทั้ง “สติ” และใช้ “ปัญญา” เพราะอีกไม่ช้าลมมรสุมแห่งชีวิตลูกใหม่ก็จะพัดเข้ามาอีก เป็นวัฏจักรเช่นนี้ตลอดไป
ดังนั้นถ้าคนเรานั้นมองโลกในแง่ดี คิดดี ทำดี ผมเชื่อเหลือเกินครับว่าหลังพายุมาฟ้าก็จะใส สิ่งใหม่ ๆ ที่ดี ๆ ก็จะเกิดกับเราเสมอครับ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *