กว่าจะบรรลุเป้าหมาย…

กว่าจะบรรลุเป้าหมาย…
Source: ธนิต โสรัตน์

เชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อาเซียน ระบบการเชื่อมโยงข้อมูลเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า Asian Single Window (ASW) เป็นระบบสารสนเทศภายใต้กรอบความร่วมมือของประเทศต่างๆ
ซึ่งเป็นสมาชิกของประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบไปด้วย บรูไน กัมพูชา อินเดีย สปป.ลาว มาเลเซีย พม่า สิงค์โปร์ ไทย และเวียดนาม โดยสาระสำคัญของ ASW เป็นข้อตกลงในการที่จะเชื่อมโยงระบบข้อมูลทางเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบพิธีการศุลกากรทั้งด้านนำเข้าและส่งออก ซึ่งปัจจุบันการค้าในอาเซียนเป็นมูลค่าใกล้เคียงหนึ่งในสี่ของการค้าระหว่างประเทศของไทย และมีอัตราการเติบโตที่สูงที่สุด
ปัจจุบันประเทศต่างๆ ของประชาคมอาเซียนยังไม่มีการเชื่อมข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยแต่ละประเทศยังมีการจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าและขาออกในลักษณะที่เป็นการแยกส่วน ถึงแม้ว่าในบางประเทศจะได้มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เช่น ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ แต่ก็ยังเป็นการทำใบขนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของการค้าระหว่างประเทศในอาเซียนมีปริมาณมาก ซึ่งการเชื่อมข้อมูลใบขนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะก่อให้เกิดความสะดวกและลดการทำเอกสารซ้ำซ้อน เช่น การที่ประเทศหนึ่งมีการส่งออกจะต้องมีการจัดทำใบขนขาออกยื่นต่อศุลกากร ซึ่งก็จะมีข้อมูลเดียวกันกับที่จะต้องไปทำใบขนสินค้าขาเข้าของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้า หากมีการต่อเชื่อมแปลงข้อมูลใบขนสินค้าขาออกของประเทศต้นทาง ไปสู่ข้อมูลใบขนขาเข้าในประเทศปลายทาง ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกเพิ่มพูนปริมาณการค้าต่อกันมากยิ่งขึ้น
ระบบการเชื่อมข้อมูลข่าวสารของ Asian Single Window จึงเป็นการปฏิบัติการเชิงบูรณาการบนพื้นฐานของการยื่นข้อมูลที่เป็น Single Submission คือเป็นการยื่นเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อินวอยซ์ ใบตราส่ง Packing List ใบอนุญาตต่างๆ เพื่อใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรในระบบ e-Customs ซึ่งก็จะสามารถพัฒนาไปสู่การตรวจสอบสินค้าทางศุลกากรแบบเที่ยวเดียวหรือที่เรียกกันว่า SSI : Single Stop Inspection คือสินค้าที่มีการตรวจสอบจากศุลกากรประเทศต้นทาง ก็จะไม่มีการตรวจสอบที่ประเทศปลายทาง ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ จะต้องมีการเชื่อมข้อมูลในระบบศุลกากร ทั้งจากประเทศที่ส่งออกไปยังประเทศที่นำเข้า จำเป็นที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จะต้องจัดให้มีระบบมาตรฐานเอกสาร (Single Forms) และมาตรฐานของระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นระบบเดียวกัน เช่น ประเทศไทยใช้ระบบ ebXML ตามมาตรฐาน UN/CEFACT ขณะที่มาเลเซียใช้ระบบ EDI ซึ่งยึดถือมาตรฐาน UN/EDIFACT
อันที่จริงแล้วระบบ ASW เป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 ตั้งแต่การประชุมที่เรียกว่า Bali Concorde ได้กำหนดแผนแม่บทหรือ Road Map ในการที่จะนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในพิธีการศุลกากรที่เป็นระบบและมาตรฐานเดียวกัน โดยที่ผ่านมาก็มีการประชุมหลายครั้ง แต่ความคืบหน้าค่อนข้างมีความล่าช้า โดยจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าภายในปี ค.ศ. 2008 ประเทศอาเซียนที่พัฒนาแล้ว จะต้องสามารถเชื่อมโยงพิธีการศุลกากรในระบบที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจนถึงปัจจุบันนอกเหนือจากการที่ประเทศไทยเคยทดลองนำร่องกับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งทราบว่าปัจจุบันก็ไม่คืบหน้า และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ก็ยังไม่สามารถพัฒนาระบบ ASW ไปเท่าใดนัก
กรณีของประเทศไทยจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติก็ได้กำหนดชัดเจนว่า จะมีการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นระบบ e-Logistics และ e-Single Window ซึ่งกำหนดให้กรมศุลกากรเป็นเจ้าภาพหลัก ในการที่จะให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานรัฐต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก เช่น กรมประมง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมการค้าต่างประเทศ ฯลฯ (ซึ่งปัจจุบันผู้นำเข้าหรือส่งออก จะต้องไปแยกยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตต่างๆ) โดยกรมศุลกากรตั้งเป้าหมายว่า จะให้สามารถยื่นเอกสารและขออนุญาตผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลระบบบัญชีเรือที่เป็น e-Manifest ซึ่งในภูมิภาคนี้ประเทศไทยค่อนข้างมีความก้าวหน้ากว่าหลายประเทศ
ทั้งนี้ การที่จะพัฒนาไปสู่ระบบ Asian Single Window ได้ ประเทศต่างๆ จะต้องไปปรับปรุงกลไกในระบบพิธีการศุลกากรในประเทศของตนเองให้มีการเป็นบูรณาการ เหตุผลสำคัญที่ความก้าวหน้าในด้านการพัฒนาระบบ Single Window ของประเทศไทยค่อนข้างล่าช้า ก็คือมาตรฐานของระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ต่างกัน โดยเฉพาะหน่วยราชการแต่ละหน่วยก็จะมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง การอนุมัติก็ยังเป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยราชการต่างๆ ในด้านปัญหาของภาคธุรกิจซึ่งก็มีหลากหลาย ทั้งผู้นำเข้า-ส่งออกรายใหญ่ ขนาดกลาง จนไปถึง SMEs ก็จะมีความเข้าใจและความพร้อมในการเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ต่างกัน อีกประการหนึ่งที่จะต้องเข้าใจกันก็คือในเรื่องของการเตรียมพร้อมของเอกชนที่จะเข้าสู่ระบบนี้ ซึ่งดูเหมือนว่าจะง่ายและรวดเร็ว แต่ก็จะต้องมีการตรวจสอบเอกสารและความถูกต้อง เนื่องจากกรมศุลกากรไทยจะมีระบบ Post Audit คือการติดตามเอกสารย้อนหลัง ซึ่งหากเป็นกรณีของ Asian Single Window ปัญหานี้ก็จะยิ่งทวีความซับซ้อน
อย่างไรก็ตาม ระบบ ASW ยังจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาเนื่องจากเป็นทิศทางของโลก โดยจำเป็นจะต้องพัฒนาไปสู่ระบบที่เรียกว่า National Single Window (NSW) คือไม่ใช่เชื่อมโยงเฉพาะระบบศุลกากรเท่านั้น แต่จะต้องสามารถรองรับระบบการค้าของอาเซียน ซึ่งในอีกไม่ช้าประมาณปี 2015 ระบบการค้าของอาเซียนก็จะพัฒนาไปสู่ประชาคมอาเซียนที่เรียกว่า ASIAN Trading Community นอกจากนี้ระบบ ASW จะต้องเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ที่เป็น e-Logistics , e-Banking , e-Insurance , e-Manifest , e-Transport
การพัฒนาไปถึงจุดนั้นได้ หน่วยราชการต่างๆ ของแต่ละประเทศจะต้องเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารถึงกันในระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้เสียก่อน โดยจะต้องเร่งในการจัดทำโครงสร้างและบรรลุข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคนิคและข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานทั้งด้านแบบฟอร์ม และมาตรฐานของเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ นอกเหนือจากนี้ จะต้องเร่งทำความตกลงที่เกี่ยวกับระเบียบและกฎหมายซึ่งแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน โดยจะต้องมีการออกแบบโครงสร้างให้ประเทศสมาชิกของอาเซียนเข้าสู่ระบบที่เป็น “ASIAN Supply Chain” ซึ่งสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเอกสารกันได้ในระบบที่เป็น Governance to Governance และ Governance to Business และภาคเอกชนควรพัฒนาระบบของตนเองให้เป็น Business to Business และ Business to Governance
ทั้งนี้ การบรรลุเป้าหมายไปสู่ Asian Single Window คงจะไม่ได้เห็นผลในเร็วๆ นี้ และคงจะไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดไว้ เอาเพียงว่าประเทศไทยเราเอง ขอให้มีการพัฒนาเชื่อมโยงและบูรณาการของหน่วยงานรัฐให้ไปสู่การปฏิบัติจริง เพื่อที่จะพัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์จาก e-Customs ให้ไปสู่บูรณาการระบบ TSW : Thailand Integrate Single Window แค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว..!!

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *